สปสช.จัดประชุมจัดชี้แจงแนวทางและหลักเกณฑ์การขอรับค่าบริการสาธารณสุขสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ชี้ในอนาคตระบบบริการปฐมภูมิต้องทำงานเป็นเครือข่าย หวังพื้นที่นำร่อง 428 แห่งสร้างผลงานชัดเจนเพื่อขยายผลปลดล็อกงบประมาณให้หน่วยบริการปฐมภูมิทั้งระบบ
................................
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมชี้แจงแนวทางและหลักเกณฑ์การขอรับค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ปีงบประมาณ 2564 เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับหน่วยบริการปฐมภูมิ 428 แห่งที่จะนำร่องยกระดับการให้บริการ ตามแนวทางของ พ.ร.บ.ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ 2562
นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ระบบปฐมภูมินับจากนี้คงไม่ได้มีนิยามแบบ 10-20 ปีก่อน แต่ต้องทำให้เกิดการจัดเครือข่ายในระบบ ทำให้ผู้รับบริการไปรับบริการที่ไหนก็ได้ในเครือข่าย ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นเรื่องที่ต้องปรับมุมมองและวิธีการหรือแม้แต่แผนการลงทุน ยิ่งในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการจัดบริการ ไม่ใช่มองว่ามีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (รพ.สต.) หรือ คลินิกอยู่แห่งหนึ่งแล้วมองว่านั้นคือบริการปฐมภูมิ แต่ต้องมองว่ายังมีคลินิกเอกชนอื่นๆที่มีศักยภาพให้บริการได้ เช่น คลินิกทันตกรรม คลินิกกายภาพบำบัด การไปรับยาที่ร้านยาหรือส่งยาทางไปรษณีย์ รวมทั้งระบบ telehealth, telemedicine เหล่านี้ต้องมองว่าทำอย่างไรจะดึงทรัพยากรจากภาคเอกชนเข้ามาร่วมให้บริการได้
ขณะเดียวกัน สปสช.เองก็มีระบบการจ่ายเงินที่ลงลึกในรายละเอียดหลายรายการและกำลังเริ่มบูรณาการเป็นการจ่ายแบบ service package หรือชุดบริการโดยในปี 2564 จะมีพื้นที่นำร่องที่เป็นต้นแบบหน่วยบริการปฐมภูมิตามหลักคิดข้างต้น 428 แห่ง โดยอยากย้ำว่าขอให้ทำได้ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่วางไว้ ส่วน สปสช.ก็จะพยายามจัดสรรงบประมาณเพื่อให้เกิดผลสะท้อนในการเกิดบริการ ขณะเดียวกันก็อยากให้ใช้ศักยภาพของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ให้เข้ามาทำงานร่วมกันด้วย ซึ่งหากทำได้ตามเป้าก็จะทำให้ระบบสาธารณสุขเข้มแข็งมากขึ้น
ด้าน ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ สปสช. กล่าวว่า หน่วยบริการปฐมภูมิที่ขึ้นทะเบียนในระบบของ สปสช. มี 11,851 แห่ง เป็นหน่วยบริการที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 1,921 แห่งและได้รับเลือกให้เป็นหน่วยนำร่องยกระดับบริการสุขภาพปฐมภูมิ 428 แห่ง ซึ่งการจัดสรรงบประมาณสำหรับ 428 แห่งนี้ จะจัดสรรเพิ่มเติมจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว โดยแบ่งเป็น กทม. 44 ล้านบาท และต่างจังหวัด 214 ล้านบาท
ขณะที่ นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร รองผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า นโยบายระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกที่ สธ. ยกขึ้นมาจัดการ หน่วยบริการปฐมภูมิต้องทำให้ประชาชนรู้จักแล้วไปรับบริการที่ดีขึ้นกว่าเดิมและมากขึ้นกว่าเดิม และวางเป้าในปี 2564 ว่าต้องการเพิ่มจำนวนหน่วยบริการปฐมภูมิให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นต้องมาจากหน่วยบริการนำร่องทั้ง 428 แห่งนี้ ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการทำงานและสามารถปลดล็อกให้ทั้งประเทศได้งบประมาณมากขึ้น
"จุดนี้เป็นประเด็นว่าถ้าทีมหมอครอบครัว 428 แห่งนี้ทำได้ดี ทำให้สำนักงบประมาณเห็นภาพรวมของการพัฒนาระบบปฐมภูมิ ต่อไปการจัดสรรงบประมาณก็อาจเป็น service package หรือชุดบริการลงไปที่หน่วยบริการโดยตรง ขณะนี้ทาง สธ.ได้หารือกับกรมบัญชีกลางแล้ว และสำนักงานประกันสังคมก็จะมีงบเพิ่มเติมด้วย ดังนั้นท่านเป็นครีมของจังหวัด ครีมของเขต ช่วงนี้ท่านมีโอกาส ขอให้ใช้จังหวะนี้สร้างผลงาน ซึ่งก็จะเป็นความก้าวหน้าของผู้ปฏิบัติงานในระบบปฐมภูมิทั้งระบบ ทั้งเรื่องงบประมาณ ความก้าวหน้าทางวิชาชีพและทรัพยากรต่างๆ" นพ.ประสิทธิ์ชัย กล่าว