'อนุทิน' ห่วงใยประชาชนสิทธิบัตรทองเดินทางช่วงปีใหม่ หากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้ารักษาได้ทุก รพ.ที่อยู่ใกล้ตามนโยบาย UCEP ส่วนกรณีเจ็บป่วยไม่ถึงขั้นวิกฤติ แต่จำเป็นต้องรับการรักษา ให้ใช้สิทธิรักษา ม. 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมแนะประชาชนในจังหวัดพื้นที่4 โซน ช่วงปีใหม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ตามแนวทาง ศบค. หากสงสัย มีประวัติเสี่ยง พบแพทย์ตรวจคัดกรอง เบิกจ่าย สปสช.
................................
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 นี้ที่มีวันหยุดยาวระหว่างวันที่31 ธันวาคม 2563 ถึง 3 มกราคม 2564 ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางต่างจังหวัดเพื่อกลับบ้านหรือเยี่ยมเยียนครอบครัว ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สิทธิบัตรทอง หากเจ็บป่วยต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ในการเข้ารับบริการแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
1.กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติ หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ที่สถานพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ใกล้สุดโดยเร็ว เป็นไปตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิ์ทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ของรัฐบาล โดยให้สถานพยาบาลที่ให้การรักษาเบิกค่าใช้จ่ายค่ารักษาจาก สปสช. ตามอัตราที่กำหนด
2.กรณีเจ็บป่วยที่ไม่ใช่ฉุกเฉินระดับวิกฤติ หรือกรณีผู้มีสิทธิบัตรทองที่เดินทางไปต่างถิ่นแล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล เช่น มีความดันโลหิตขึ้นสูง ปวดศีรษะมาก เกิดภาวะท้องเสียรุนแรง เป็นต้น กรณีนี้ให้เป็นไปตามข้อบังคับ สปสช. ว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขกรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุหรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ระบุว่าผู้ป่วยสิทธิบัตรทองหากมีเหตุสมควร หรือกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลอื่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนหน่วยบริการประจำและสถานพยาบาลที่ไม่ได้เข้าร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 อย่างไรก็ตามขอแนะนำประชาชนผู้มีสิทธิให้เข้ารับบริการสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ใกล้ที่สุดก่อน ไม่มุ่งเจาะจงเข้าสถานพยาบาลเอกชนเท่านั้น เนื่องจากการเบิกจ่ายค่ารักษาจะเป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้
“ในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้เพื่อความสะดวก นอกจากเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนที่เป็นหลักฐานสำคัญแล้ว ควรศึกษาข้อมูลหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่ระหว่างเดินทางและจุดหมายปลายทาง เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการเข้ารับการรักษาพยาบาลยังหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วและเพื่อความไม่ประมาท ส่วนประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหอบหืด เป็นต้น ควรเตรียมพร้อมยารักษาโรคเพื่อให้เพียงพอสำหรับการเดินทาง”
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ขณะนี้ ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.)ได้มีมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดที่แบ่งพื้นที่เป็น 4 โซน ขอให้ประชาชนที่อยู่จังหวัดตามโซนดังกล่าวปฏิบัติตามมาตรการของแต่ละโซนอย่างเคร่งครัด พร้อมสวมหน้ากากป้องกัน ใช้แอลกอฮอล์หรือเจลล้างมือ และคงเว้นระยะห่างทางสังคม อย่างไรก็ตามหากประชาชนสงสัยว่าจะติดเชื้อ โดยมีอาการ 1.มีไข้ อุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 ขึ้นไป หรือ 2. มีอาการไอ น้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก และมีประวัติ 14 วันก่อนเริ่มป่วย เช่น เดินทางไป หรือมาจากประเทศที่มีการรายงานโรคในช่วง 1 เดือน สัมผัสผู้ป่วยสงสัยหรือยืนยันว่าติดโควิด-19 และเคยไปในสถานที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาล ขนส่งสาธารณะที่พบผู้ป่วยสงสัยหรือยืนยันโควิด-19 รวมถึงทำงานในสถานกักกันโรค ขอให้ปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์สามารถสั่งตรวจและเบิกกับ สปสช.ได้
ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน สปสช. โทร. 1330 ขณะที่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้น โทร. สายด่วน 1669 ได้ทั่วประเทศ