เครือข่ายมะเร็งไทยเชียร์นโยบาย "โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม" ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษารวดเร็ว วอนภาครัฐเพิ่มความชัดเจน-สร้างความเข้าใจถึงมาตรฐานของระบบที่เท่าเทียม
...............................
น.ส.ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็งไทย (Thai Cancer Society) เปิดเผยว่า การจัดระบบบริการโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อมสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 ในฐานะเครือข่ายผู้ป่วยต้องขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้มีนโยบายออกมาช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง สอดคล้องกับนโยบายเดิมที่ว่าใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งผลักดันให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาในเขตพื้นที่บริการใกล้บ้าน โดยมีญาติคอยดูแลอยู่ใกล้ๆ
น.ส.ศิรินทิพย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาของผู้ป่วยมะเร็ง นับตั้งแต่ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งแล้วอาจเกิดความกังวลและไม่กล้าตรวจเพิ่มเติม แต่เมื่อตัดสินสินใจตรวจเพิ่มเติมแล้ว จึงได้รู้ว่าระบบหรือกระบวนการส่งตัวเป็นไปค่อนข้างช้า ไม่ว่าจะขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยที่ต้องผ่านการผ่าตัด การเข้าเครื่อง CT Scan ขณะที่ผู้ป่วยก็จะต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อขอระบบการส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัด เข้ามายังโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร หรือแม้กระทั่งลางานเพื่อขอกลับไปรักษาตัวที่บ้าน
"แต่ละขั้นตอนใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน กว่าที่เราจะได้ผลชิ้นเนื้อว่าเป็นมะเร็งจริงๆ หรือว่าเราเป็นชนิดใด จุดนี้เองทำให้เรามีโอกาสการรักษาได้ช้า และอาจทำให้มะเร็งลุกลามไปเรื่อยๆ ซึ่งถือว่าเป็นคอขวดที่ทำให้กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาได้ช้า ทั้งในเรื่องของระบบการส่งตัว และการวินิจฉัย" น.ส.ศิรินทิพย์ กล่าว
อย่างไรก็ตามในส่วนของนโยบายใหม่ที่จะเข้ามานี้ เครือข่ายผู้ป่วยได้ให้ข้อกังวลเพิ่มเติมถึงประเด็นของการสื่อสาร ซึ่งการประกาศว่ารักษาได้ทุกที่นั้นอาจทำให้ผู้ป่วยบางส่วนเข้าใจว่าสามารถไปแห่งใดก็ได้ ทำให้ผู้ป่วยอาจไหลไปยังโรงพยาบาลรัฐชื่อดังขนาดใหญ่ที่คิดว่ารักษามะเร็งได้ ทั้งที่ความจริงแล้วโรงพยาบาลรัฐในระดับกลาง โรงพยาบาลรัฐที่อยู่ตามหัวเมืองในต่างจังหวัด หรือโรงพยาบาลรัฐขนาดย่อมลงมา ล้วนสามารถให้การดูแลได้เหมือนกัน
น.ส.ศิรินทิพย์ กล่าวว่า ดังนั้นภาครัฐควรช่วยสื่อสารเพิ่มเติมว่าโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อมนั้น การรักษามะเร็งมีมาตรฐานเดียวกัน ใช้ข้อกำหนดหรือใช้ยาตัวเดียวกัน รวมถึงมีแพทย์ที่วางแผนการรักษาให้เหมือนกัน เพื่อให้เกิดความอุ่นใจของผู้ป่วยที่จะเริ่มการรักษาใกล้บ้าน เนื่องจากที่ผ่านมาในฝั่งของผู้ป่วยเองยังคงมีความเข้าใจผิดอยู่มาก และเครือข่ายผู้ป่วยเองก็ยังรอข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อนำไปขยายต่อให้ผู้ป่วยได้รับรู้เช่นเดียวกัน
"ผู้ป่วยบางรายจะมีความกังวลว่าใช้ได้จริงหรือไม่ ไปถึงแล้วจะได้เคลม ได้รับบริการตรงนี้เลยไหม ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดความคาดหวัง ในระหว่างช่องว่างที่ยังอยู่ในช่วงปรับตัวของหน่วยบริการ ไม่ใช่ว่าหลังประกาศใช้วันที่ 1 ม.ค. แต่เมื่อผู้ป่วยไปถึงแล้วหน่วยบริการยังไม่พร้อม จะทำให้เกิดผลกระทบตามมาที่ต้องมานั่งแก้ไขปัญหาทีหลังได้ ฉะนั้นถ้าทางภาครัฐหรือหน่วยบริการ มีแพลนว่าสามารถให้บริการได้ที่ใด ช่วงเวลาไหน ก็จะทำให้ผู้ป่วยที่ไปถึงรู้สึกว่านโยบายนี้เกิดได้จริง" น.ส.ศิรินทิพย์ กล่าว
น.ส.ศิรินทิพย์ กล่าวว่า ข้อห่วงกังวลอีกส่วนคือเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยร่นระยะเวลาการส่งตัวจาก 15 วัน อาจเหลือเพียง 1-2 วัน เพราะแม้จะช่วยให้ทุกอย่างรวดเร็วขึ้น เรียลไทม์มากขึ้น แต่อาจต้องมองถึงกลุ่มผู้ป่วยเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี อาจไม่รู้จักคิวอาร์โค้ด หรือญาติที่ไม่สามารถพาผู้ป่วยผู้สูงวัยไปโรงพยาบาลได้ เพราะแม้กระทั่งการมีใบส่งตัวก็ยังทำให้เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาดกันได้
"ฉะนั้นเรื่องของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ก็อยากให้มีหน่วยงานกลางที่คอยอำนวยความสะดวก หรือคอยเป็นคู่สายที่ดูแลส่วนนี้ให้คนไข้ไม่เข้าใจผิด ให้คนไข้ไปแล้วไม่เก้อ ให้คนไข้ไปแล้วรู้สึกว่าระบบที่รองรับนโยบายช่วยเหลือผู้ป่วยหน้างานได้จริงๆ และที่สำคัญไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระให้กับหน่วยบริการ" น.ส.ศิรินทิพย์ กล่าว
น.ส.ศิรินทิพย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังอยากให้นโยบายขยายไปถึงผู้ป่วยสิทธิข้าราชการ หรือสิทธิประกันสังคมด้วย ไม่เพียงสิทธิบัตรทองอย่างเดียว ซึ่งความท้าทายของนโยบายนี้คือเรื่องของมาตรฐานที่จะสามารถรักษาได้ทุกที่โดยไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ และไม่เป็นภาระของหน่วยบริการมากเกินไป จึงอยากให้ภาครัฐสร้างความเชื่อมั่นทั้งกับกลุ่มผู้ป่วย ประชาชน และหน่วยบริการเอง ว่านโยบายนี้สามารถเกิดได้จริง และทุกที่มีมาตรฐานที่เหมือนกัน