ธนาคารไทยพาณิชย์ ดึงประสบการณ์การพัฒนาศักยภาพคน และหลักสูตรดิจิทัล จาก SCB Academy ผนึกกำลังงานวิชาการเพื่อชุมชนท้องถิ่นจากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม สร้างโครงการพัฒนาทักษะบุคลากร และความร่วมมือทางด้านวิชาการ หวังสร้างไอเดียการทำธุรกิจใหม่ๆ ให้ชุมชน หนุนเศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
..........................
นายวรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงาน SCB Academy ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่ธนาคารจัดตั้ง SCB Academy ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างโอกาสให้พนักงานทุกคนค้นหาและพัฒนาศักยภาพของตนเอง วันนี้ SCB Academy มีความพร้อมที่จะนำประสบการณ์และสิ่งที่เรียนรู้ตลอดระยะเวลา 3 ปี เพื่อส่งมอบต่อให้กับสังคมและประเทศ ผ่านโครงการพัฒนาทักษะต่างๆ เพื่อให้องค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชนมีความพร้อมสำหรับการทำงานแห่งโลกอนาคต โดยล่าสุด SCB Academy ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม จัดทำโครงการพัฒนาทักษะบุคลากร และความร่วมมือทางด้านวิชาการ โดยนำจุดแข็งของทั้งสององค์กรมาผนวกกัน โดย SCB Academy จะนำประสบการณ์เรื่องของ Human Capability Development และหลักสูตรด้าน Digital Content และ Digital Marketing มาผสมผสานกับผลงานวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เพื่อจัดทำโครงการนำร่องให้ชุมชนสามารถสร้างรูปแบบในการทำธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทั้งนักศึกษาของมหาวิทยาลัย เป็นประโยชน์กับทั้งบุคลากรของไทยพาณิชย์หรือแม้แต่ลูกค้า ประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจที่อยากเข้ามาเรียนรู้ทักษะนี้
นอกจากนี้ ทั้ง SCB Academy และ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม จะเข้าไปมีส่วนสำคัญในการทำการวิจัยชุมชน โดยจะเปิดโอกาสให้บุคลากรของธนาคารฯ และมหาวิทยาลัยฯ ได้เข้าเป็น Community Partner เพื่อช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงชุมชน สร้างให้เกิดการพัฒนาชุมชนไปในทิศทางที่ยั่งยืน และเป็นทิศทางที่ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิทธิ วงศ์ทองคำ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เปิดเผยว่า เจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม คือ การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งมหาวิทยาลัยฯ และ SCB Academy มีปณิธานที่แน่วแน่ที่จะใช้องค์ความรู้ที่มีพัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน และประเทศชาติให้ก้าวผ่านวิกฤตการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะวิกฤตที่เกิดจาก Digital Disruption และล่าสุด คือ สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งก่อให้เกิดวิถีชีวิตใหม่ของคนไทย ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะก้าวผ่านความท้าทายเหล่านี้ คือ การเตรียมความพร้อมของบุคลากรให้มีขีดความสามารถในการรับมือการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการสร้างผลงานวิชาการเพื่อมีส่วนช่วยยกระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
“เราเชื่อว่าโมเดลนี้สามารถเข้าไปช่วยเหลือสังคม ชุมชน ทั้งผู้บริหารและพนักงานของธนาคาร คณาจารย์หรือผู้บริหารของมหาวิทยาลัย รวมทั้งนักศึกษาเข้าไปเป็นเพื่อนร่วมคิด เพื่อนร่วมให้คำปรึกษาแก่ชุมชน เพื่อที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในชุมชน และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิทธิ กล่าว
ทั้งนี้ โครงการที่ร่วมมือกับ SCB Academy จะมีระยะเวลา 3 ปี โดยจะสิ้นสุดในเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยมีโครงการนำร่อง ได้แก่ โครงการลดความเหลื่อมล้ำในชุมชนคลองโตนด เขตมีนบุรี และโครงการท่องเที่ยววิถีชุมชนคลองลาดพร้าว เขตลาดพร้าว และเกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อพนักงานและประเทศชาติคือ
Leadership Skill ที่มี Mindset พร้อมที่จะไปสู่โลกยุคดิจิทัล เช่น Data Driven, Lean, Aglie, Design Thinking, Critical Thinking -Project Management Skill สามารถบริหารจัดการโครงการให้เป็นไปได้ตามวัตถุประสงค์ ภายในเวลาที่กำหนด รวมทั้งสามารถประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกธนาคารมีทักษะในการสื่อสาร Coach, Facilitator, Mentor เมื่อสถาบันครอบครัว และชุมชนเข้มแข็ง ตื่นรู้ เห็นคุณค่าในตนเอง และพึ่งพาตนเองได้ ก็จะสามารถลดปัญหาอาชญากรรม และปัญหาสังคมในด้านต่าง ๆ เช่น การพนัน ยาเสพติด มีชุมชนต้นแบบให้ศึกษา และพัฒนาต่อยอดไปยังชุมชนอื่นๆได้ ลดความเหลื่อมล้ำกันด้านโอกาส และทางเลือกในสังคม ทำให้คนในชุมชนได้เรียนรู้ Digital Marketing ที่ธนาคารเข้าไปร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ บนเว็บไซต์พลเมืองดี-จิทัล และการพัฒนาชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ซึ่งเป็นการพัฒนาชุมชนเชิงวัฒนธรรม และพัฒนาชุมชนเชิงท่องเที่ยว ตลอดจนถึงการที่ชุมชนเข้าใจและหวงแหนจารีตประเพณีพื้นถิ่นของแต่ละชุมชน สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนและประเทศชาติในที่สุด