สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดเวทีคืนข้อมูล “ติดตามสถานการณ์สุขภาพและฟื้นฟูการเรียนรู้เด็ก” เพื่อการใช้ประโยชน์พัฒนาเด็กอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับทีมวิจัยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเวทีคืนข้อมูล “โครงการวิจัยการติดตามสถานการณ์สุขภาพและฟื้นฟูภาวะบกพร่องทางสติปัญญา และการเรียนรู้ในเด็กประถมศึกษาปีที่ 4-6” เพื่อนำเสนอข้อมูลสำคัญจากการติดตามภาวะบกพร่องทางสติปัญญาและการเรียนรู้ รวมทั้งประเมินประสิทธิผลการส่งเสริมการเรียนรู้ และปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก ซึ่งในเวทีมีการระดมความคิดเห็นจากผู้แทนครูและผู้ปกครองจากโรงเรียนในพื้นที่ ผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ภาคการศึกษาจังหวัด ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ เพื่อกำหนดทิศทางการจัดกิจกรรมฟื้นฟูพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ นับเป็นการต่อยอดผลวิจัยสู่การใช้ประโยชน์บนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งนี้กิจกรรมจัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ณ โรงแรมมีพรสวรรค์ แกรนด์โฮเทลแอนด์รีสอร์ท จ.พิจิตร
ดร.นุชนาฎ รักษี นักวิจัยเครือข่าย สวรส. หัวหน้าโครงการวิจัยฯ เผยผลการติดตามสถานการณ์ทักษะการเรียนรู้และสติปัญญาของเด็กประถมศึกษาปีที่ 4-6 ในปี 2562 ใน 6 โรงเรียนนำร่องพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ จำนวน 212 คน โดยการประเมินระดับความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา (IQ) พบเด็กมี IQ ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยปกติ จำนวน 86 คน หรือร้อยละ 40.6 และอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยปกติ จำนวน 126 คน หรือร้อยละ 59.4 จากนั้นมีการประเมินทักษะการเรียนรู้ใน 4 ด้าน คือ ด้านการอ่านคำ การสะกดคำ ความเข้าใจประโยค และการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ในเด็กที่มี IQ ปกติจำนวน 126 คน พบว่าเด็กมีภาวะบกพร่องการเรียนรู้ (LD) จำนวน 28 คน หรือร้อยละ 22.22
“ข้อมูลที่น่าสนใจคือในเด็ก 28 คน ซึ่งมี IQ ระดับปกติ แต่มีภาวะบกพร่องการเรียนรู้ โดยแบ่งได้คือ เป็นเด็กมีภาวะบกพร่องการเรียนรู้ ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการอ่านคำ การสะกดคำ ความเข้าใจประโยค การคำนวณทางคณิตศาสตร์ จำนวนถึง 14 คน, บกพร่อง 3 ด้าน 10 คน, บกพร่อง 2 ด้าน 2 คน, และบกพร่อง 1 ด้าน 2 คน ทีมวิจัยจึงนำเด็กที่มี IQ ต่ำกว่าเกณฑ์ 86 คน และเด็กที่มีภาวะบกพร่องการเรียนรู้ 28 คน รวม 114 คน เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเด็ก ด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ผ่านครูผู้สอนในโรงเรียนทั้ง 6 แห่ง โดยการพัฒนาศักยภาพที่เริ่มจากการปรับทัศนคติครูให้เข้าใจความบกพร่องของเด็ก การตระหนักในบทบาทของครู การใช้เทคนิคการสังเกต ประเมิน และการสื่อสารกับเด็กอย่างเข้าใจ ตลอดจนการจัดทำสื่อเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ทั้งด้านการอ่านคำ สะกดคำ ความเข้าใจประโยค การคำนวณทางคณิตศาสตร์ นอกจากนั้นทีมวิจัยได้จัดทำโปรแกรมส่งเสริมการรู้เท่าทันสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ครูนำไปใช้ในการพัฒนาทักษะและการเรียนรู้แก่เด็กด้วย” ดร.นุชนาฎ กล่าว
ซึ่งผลการฟื้นฟูทักษะการเรียนรู้ สติปัญญาของเด็ก และการดูแลป้องกันตนเองจากสิ่งแวดล้อมโดยโรงเรียน ภายหลังการดำเนินการฟื้นฟูเด็กใน 6 โรงเรียนใน 1 ปีการศึกษา พบว่าเด็กที่มี IQ ต่ำกว่าเกณฑ์ และมีภาวะบกพร่องการเรียนรู้ (ติดตามได้ 106 คน จาก 114 คน) ก่อนการฟื้นฟูเด็กมีคะแนนเฉลี่ย IQ อยู่ที่ 85.43 หลังการฟื้นฟูเพิ่มขึ้นเป็น 90.11 ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยปกติ ส่วนการทดสอบเฉพาะเด็กที่มี IQ ต่ำ (ติดตามได้ 81 คน จาก 86 คน) ก่อนฟื้นฟูมีคะแนนเฉลี่ย IQ อยู่ที่ 81.93 หลังการฟื้นฟูเพิ่มขึ้นเป็น 88.22 แต่ยังจัดอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมต่อเนื่อง ส่วนผลการฟื้นฟูการเรียนรู้เด็กทั้งในเด็กที่มีภาวะบกพร่องการเรียนรู้ และเด็กที่มี IQ ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ พบว่าเด็กมีเกณฑ์คะแนนเฉลี่ยที่ดีขึ้นทั้ง 4 ด้าน แต่ในด้านการคำนวณทางคณิตศาสตร์ แม้จะเพิ่มขึ้นจาก 75.59 เป็น 84.25 แต่ยังจัดอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าปกติ ซึ่งทักษะคณิตศาสตร์จำเป็นต้องใช้เวลาส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ทีมวิจัยได้คืนข้อมูลดังกล่าวให้กับโรงเรียนเพื่อส่งเสริมเด็กให้ตรงจุดต่อไป ขณะที่ผลการประเมินด้านความรู้เท่าทันในการดูแลและป้องกันตนเองจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ พบว่าเด็กมีคะแนนความรู้ก่อนทำกิจกรรมเฉลี่ย 4.72 หลังการทำกิจกรรมเพิ่มเป็น 6.12 มีทัศนคติการป้องกันตนเองจากสารพิษเพิ่มขึ้น แต่พฤติกรรมการป้องกันตนเองจากสารพิษยังเหมือนเดิม ซึ่งต้องได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ โดย ดร.ศรัล ขุนวิทยา นักวิจัยเครือข่าย สวรส. นำเสนอ “ผลการตรวจสุขภาพเด็กปี 2562” โครงการย่อยภายใต้การวิจัยดังกล่าวฯ พบว่า เด็กมีภาวะโภชนาการปกติร้อยละ 63.3 และพบมีภาวะโรคอ้วนถึงร้อยละ 25.2 ส่วนการตรวจปริมาณสารหนูอนินทรีย์ในร่างกายเด็กพบมีสารหนูสูงร้อยละ 4.5 (9 คน จาก 199 คน) และเมื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณสารหนูในร่างกายของเด็กกับภาวะบกพร่องการเรียนรู้ ในกลุ่มเด็ก LD จำนวน 28 คน พบว่า สารหนูไม่มีความสัมพันธ์กับภาวะบกพร่องทางสติปัญญาและการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งนี้ ในการศึกษานำร่องครั้งนี้เป็นการศึกษาเฉพาะกลุ่มเด็ก ป.4-6 เพียง 199 คน เท่านั้น โดยมีเด็กเพียง 9 คน ที่มีปริมาณสารหนูสูง ซึ่งการศึกษายังไม่ครอบคลุมเด็กทุกคนในพื้นที่ ดังนั้นเพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูเด็กได้ทั่วถึง จึงควรมีการตรวจวัดสุขภาพให้ครอบคลุมเด็กทุกคนโดยหน่วยงานด้านสาธารณสุข เพื่อการเฝ้าระวังและติดตามอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เนื่องด้วยการศึกษาวิจัยในต่างประเทศยังพบประเด็นของสารหนูมีผลต่อภาวะบกพร่องการเรียนรู้และสติปัญญาของเด็กที่ต่ำลง นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้และด้านสติปัญญาของเด็กด้วย เช่น การอบรมเลี้ยงดู การดูแลวินัยการใช้สื่อของเด็ก การให้เวลาของครอบครัว หรือการดูแลด้านโภชนาการ ซึ่งจะส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กและควรได้รับการฟื้นฟูส่งเสริมเช่นกัน
สอดคล้องกับผลการศึกษาปัจจัยทางครอบครัวและสังคมที่มีความสัมพันธ์กับภาวะบกพร่องทางสติปัญญา กระบวนการรู้คิด และการเรียนรู้ของเด็ก ป.4-6 อีกหนึ่งโครงการย่อยภายใต้การวิจัยดังกล่าวฯ พบว่า “ปัจจัยครอบครัวและสังคม มีผลต่อภาวะบกพร่องทางสติปัญญาและการเรียนรู้ของเด็กอย่างชัดเจนในครอบครัวของเด็ก LD ในพื้นที่การศึกษา ได้แก่ อาชีพของพ่อ ที่ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างชั่วคราว ร้อยละ 47.20 และอาชีพรับจ้างประจำ ร้อยละ 32.60 อาชีพของพ่อ ถือเป็นส่วนสำคัญองค์ประกอบทางเศรษฐกิจของครอบครัว สะท้อนถึงความมั่นคงทางรายได้ของครอบครัวที่เป็นสาเหตุหนึ่งในด้านสิ่งแวดล้อม ระยะเวลาของเด็กในการดูโทรทัศน์เฉลี่ยต่อวัน โดยภาพรวมส่วนใหญ่ เด็กดูโทรทัศน์เฉลี่ยวันละ 1-2 ชั่วโมง คิดเป็นร้อยละ 43.50 ซึ่งการดูโทรทัศน์เป็นเวลานาน ผลกระทบที่ได้รับอาจทำให้เด็กขาดการทบทวนการอ่าน การเขียนอย่างสม่ำเสมอ เด็กมีปัญหาในการเรียน เช่น อ่านหนังสือไม่คล่อง อ่านไม่ออก สะกดคำไม่ได้ เขียนหนังสือผิดๆ ถูกๆ หรือคิดคำนวณตัวเลขไม่ได้ จะมีปัญหาด้านการเรียน พบจำนวนร้อยละ 47.70 ซี่งอาจเป็นสาเหตุสำคัญในการเรียนรู้ในระดับต่อไปได้ และการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างพ่อแม่ลูก ผลการศึกษา พบว่า เด็ก LD มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว เพียงร้อยละ 85.30 ต่างจากเด็กที่ไม่มีปัญหา LD ที่มีถึงร้อยละ 96.70 สะท้อนถึงการจัดสรรเวลาของผู้ปกครองในการทำกิจกรรมร่วมกันกับเด็ก โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกมีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ ย่อมที่จะเหนื่อยและมีความเครียดมากกว่าครอบครัวของเด็กทั่วไป” ดร.ธีรตา ขำนอง นักวิจัยเครือข่าย สวรส. กล่าว
ทั้งนี้ ข้อเสนอสำคัญจากเวทีระดมความคิดเห็น อาทิเช่น ด้านครอบครัว ต้องหมั่นสังเกตบุตรหลานเกี่ยวกับการอ่านออกหรือเขียนล่าช้า มีความเข้าใจเด็กและวัยรุ่น เด็กที่อยู่กับปู่ย่าตายายโรงเรียนอาจลดการบ้านหรือช่วยสอนการบ้านตอนเย็น การส่งเสริมวินัยด้านการจัดตารางเวลาการใช้สื่อ ให้ความรักโดยการโอบกอด บอกรัก ด้านโรงเรียน การคัดกรองเด็ก การสังเกตพฤติกรรมรายบุคคล การแจ้งกับผู้ปกครองเมื่อทราบปัญหาของเด็กเพื่อการแก้ไขร่วมกัน ตลอดจนการส่งต่อแพทย์เพื่อวินิจฉัย หากิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการ การสนับสนุนให้โรงเรียนต้นแบบเป็นพี่เลี้ยง อบรมครูตัวแทนหรือจัดหาครูการศึกษาพิเศษเฉพาะทางมาช่วยเหลือ ครูเป็นพี่เลี้ยงให้ปู่ย่า มีสื่อเรียนรู้สำหรับเด็ก เป็นต้น ด้านชุมชน ชุมชน โรงเรียน ครอบครัว ควรมีกิจกรรมตลอดจนระบบดูแลติดตามเด็ก ทั้งด้านการเรียนและสุขภาพ รวมทั้งการสอดส่องพฤติกรรมทั้งการเรียนและปัญหาเชิงสังคม อาทิ ยาเสพติด ติดเกมส์ การหนุนเสริมให้คนในชุมชนมีรายได้ ไม่ซ้ำเติมเด็กโดยรับรู้เข้าใจปัญหา และหาช่องทางในการแก้ไขปัญหาให้กับครอบครัว รวมทั้งการสร้างเครือข่ายการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ โดยบูรณาการงานพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ เช่น การจัดทำแผนงบประมาณ การสำรวจชุมชนให้ครอบคลุมปัญหาการเรียน การทำกิจกรรม/โครงการสำหรับเด็ก ตลอดจนการติดตามประเมินผล ฯลฯ ให้ครอบคลุมประเด็นต่างๆ เพื่อการแก้ไขปัญหาเด็กทั้งในปัจจุบันและอนาคต