สสส. หนุน จ.พิษณุโลก ประกาศเจตนารมณ์มาตรการลดปัจจัยเสี่ยง อ.พรหมพิราม ประกาศ 40 หมู่บ้านต้นแบบลดละเลิกเหล้า บุหรี่ การพนัน สร้างบุคคลต้นแบบ 303 คน เครือข่ายคนช่วยเลิก 166 คน ลดค่าใช้จ่ายจากบุหรี่-เหล้า-พนัน กว่า 6 ล้านบาท รุกขยายผล พัฒนาศักยภาพเครือข่ายคนช่วยเลิก ดึง รพ.สต.ตั้งศูนย์บำบัดและฟื้นฟู ตำบลละ 1 ศูนย์ 1 รพ.สต. พร้อม
..........................
นายรณชัย จิตวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในพิธีเชิดชูเกียรติบุคคลต้นแบบและชุมชนต้นแบบลดปัจจัยเสี่ยง โดยมอบโล่ประกาศเกียรติคุณชุมชนต้นแบบจำนวน 40 หมู่บ้าน จาก 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองแขม 10 หมู่บ้าน ตำบลหอกลอง 7 หมู่บ้าน ตำบลวังวน 10 หมู่บ้าน และตำบลศรีภิรมย์ 13 หมู่บ้าน มอบใบประกาศเกียรติคุณบุคคลต้นแบบลดปัจจัยเสี่ยง (บุหรี่ เหล้า และการพนัน) 191 คน และเครือข่ายคนช่วยเลิก 166 คน พร้อมกันนี้ยังร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ "มาตรการลดปัจจัยเสี่ยงในชุมชนอำเภอพรหมพิราม"
นางสาวทัศนีย์ ศิลปบุตร กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การสนับสนุนการลดปัจจัยเสี่ยงทั้งบุหรี่ เหล้า และการพนัน ต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สสส. ได้เริ่มโครงการสนับสนุนและส่งเสริมมาตรการลดการพนันในชุมชน ใน 4 ตำบล ของอ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ดำเนินการมาแล้ว 2 ปี ผลการดำเนินงานถือว่าประสบความสำเร็จในการลดปัจจัยเสี่ยงในชุมชน 40 หมู่บ้าน เกิดความเปลี่ยนแปลง ได้แก่ 1.เกิดมาตรการชุมชน ได้แก่ มาตรการงานบุญหรืองานเศร้าวัดนี้ปลอดเหล้า ปลอดการพนัน มาตรการการออมเงิน มาตรการการปลูกผักในครัวเรือน และมาตรการการเล่นหวยเงินสด 2.เกิดบุคคลต้นแบบลดปัจจัยเสี่ยง 303 คน 3.เกิดเครือข่ายช่วยเลิก 166 คน และได้บูรณาการแผนงานร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอพรหมพิราม ในประเด็นการขับเคลื่อนอำเภอสุขภาวะ
“ผลการดำเนินงาน 2 ปีที่ผ่านมา สามารถลดค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปจากการเล่นพนัน เหล้า และบุหรี่ โดยเปรียบเทียบช่วง 6 เดือนก่อนและหลังดำเนินโครงการทั้ง 4 ตำบล พบว่า ในส่วนของการเล่นพนันลดลงร้อยละ 49.11 หรือจากเดิมสูญเสียค่าใช้จ่ายจาก 5,763,960 บาท เหลือ 2,830,720 บาท การดื่มเหล้าลดลงร้อยละ 49.81 หรือจากเดิม 6,485,700 บาท เหลือ 3,255,140 บาท การสูบบุหรี่ลดลงร้อยละ 51.70 หรือจากเดิม 803,900 บาท เหลือ 415,160 บาท ขณะที่การออมเงินเปรียบเทียบช่วง 6 เดือนก่อนและหลังดำเนินโครงการพบว่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.40 หรือมีเงินออมเพิ่มขึ้นจาก 3,389,400 บาท เป็น 4,623,300 บาท” น.ส.ทัศนีย์ กล่าว
นางสาวทัศนีย์ กล่าวต่อว่า สสส. ได้มีแนวทางการดำเนินงานในปีที่ 3 มุ่งดำเนินการสร้างบุคคลต้นแบบลดละเลิกปัจจัยเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาศักยภาพและทักษะ "เครือข่ายคนช่วยเลิก" ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน แกนนำชุมชน และคนต้นแบบที่มีคุณภาพ เปิดโอกาสตำบลใกล้เคียงที่สนใจ ในการขยายพื้นที่กิจกรรมโครงการเพิ่มเติม โดยมี 3 ตำบาล ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ต.ท่าช้าง ต.วงฆ้อง และ ต.ดงประคำ รวมถึงผลักดันโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกแห่งในพื้นที่ดำเนินโครงการ มีศูนย์บำบัดและฟื้นฟู ให้คำปรึกษาคนที่ต้องการเลิกบุหรี่ เหล้า และยาเสพติด รวมถึงเลิกเล่นการพนัน อย่างน้อยตำบลละ 1 ศูนย์ 1 รพ.สต.
นายสำเริง วระเดช สารวัตรกำนัน ต.หอกลอง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก “คนต้นแบบเลิกบุหรี่” กล่าวว่า ได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ต้นปี 2563 เพราะต้องการสร้างแรงบันดาลให้คนในชุมชนตระหนักว่าการสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้เกิดโรคร้ายแรงมากมายให้กับชีวิต ในตอนแรกคนในหมู่บ้านไม่ค่อยให้ความร่วมมือเพราะมองว่าบุหรี่เลิกยากแต่ปัจจุบันเริ่มมีคนเห็นความสำคัญมากขึ้นเพราะนอกจากสุขภาพดีขึ้น ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และในฐานะที่เป็นคนต้นแบบเลิกบุหรี่ ส่วนตัวมีเป้าหมายทำให้คนในหมู่บ้านที่มีประมาณ 150 หลังคาเรือนลด ละ เลิกอบายมุขทุกอย่าง เพื่อสุขภาวะที่ดี
นางสาวสายสร้อย เล็กยิ้ม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่5 ต.หนองแขม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก “คนต้นแบบเลิกพนัน” กล่าวว่า เข้าร่วมโครงการนี้เพราะอยากปรับลดพฤติกรรมการใช้จ่ายในครัวเรือนให้น้อยลง จึงตัดสินใจเล่นหวยตลอดชีวิต จากที่เมื่อก่อนเล่นทุกงวด หมดเงินไปหลายแสนบาท ผลที่ได้รับจากการเลิกเล่น ทำให้มีเงินเก็บ เงินสำรองมากขึ้น ตอนนี้ยืนยันจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนในละแวกใกล้เคียง เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในการลด ละเลิก อบายมุขในชุมชน
สำหรับการประกาศเจตนารมณ์ "มาตรการลดปัจจัยเสี่ยงจากเลิกเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด และการพนัน ในชุมชนอำเภอพรหมพิราม ได้แก่ 1.เป็นแบบอย่างที่ดีที่ โดยการ ลด ละ เลิก ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอบายมุขที่ส่งผลต่อตนเอง ครอบครัว และชุมชน (เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติด และการพนัน) 2.ปฏิบัติการมาตรการชุมชน ได้แก่ มาตรการงานศพปลอดเหล้า บุหรี่และการพนัน ทั้งที่บ้านและที่วัด มาตรการการปฏิบัติตนตามกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมาตรการการออมเงินจากปัจจัยเสี่ยง 3.เฝ้าระวัง และป้องกันปัญหา จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติดและการพนันในชุมชน และ 4.ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดคนต้นแบบ ลด ละ เลิก ปัจจัยเสี่ยงในชุมชนอย่างต่อเนื่อง