สสส. โชว์ผลงานสุขภาวะชุมชนครบรอบ 10 ปี ร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ พิสูจน์ชัดทำงาน 10 ประเด็นขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งต่อ “กลไก-เครื่องมือ-หลักสูตร” ต่อยอด หวังขยายผล “ตำบลพันธุ์ใหม่” ครอบคลุมเต็มพื้นที่ อีก 4,000 ตำบล พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ ยกย่อง 98 อปท.ยกระดับชุมชนน่าอยู่-เข้มแข็ง-จัดการตนเองได้
.........................
เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 ที่ห้องประชุมรอยัล จูบิลี่ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จัดงานเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น วาระ: ทศวรรษร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ (A Decade of Togetherness in Co-Creating Healthy Communities) โดยมีนายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย มอบโล่ประกาศเกียรติคุณและเกียรติบัตรสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น สำหรับ “ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน” และ “ศูนย์เรียนรู้การจัดการสุขภาวะชุมชน” ระดับดีเยี่ยม และ “ศูนย์ประสานงานเครือข่ายเฉพาะประเด็น” และนายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “ศูนย์เรียนรู้ ระดับดีเยี่ยม” รวมทั้งสิ้น 98 อปท.นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ นำประกาศความมุ่งมั่น “สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น” โดยมีอปท.กว่า 2,000 คน ร่วมงาน
นายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา การทำงานของสสส. ทำให้เกิดชุมชนเข้มแข็งที่สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่า 3,000 แห่ง ซึ่งภารกิจต่อจากนี้คือ จะขยายผลทำอย่างไรให้อปท.อีก 4,000 แห่ง นำกลไก เครื่องมือ และหลักสูตร แนวทางการทำงานไปใช้ โดยในครั้งนี้มีการส่งมอบภารกิจเพื่อผลักดันไปสู่นโยบาย ทั้งการทำงานโดยอาศัยพื้นที่เป็นตัวตั้ง การใช้ระบบข้อมูลเพื่อทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม ความเป็นเจ้าของ ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนำไปบรรจุในนโยบายเพื่อให้ทุกพื้นที่นำเครื่องมือดังกล่าวไปใช้ทำงาน และส่งมอบภารกิจไปยังกรมกิจการผู้สูงอายุ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ รองรับสังคมสู่อายุ ซึ่งสสส.ดำเนินการ 4 เรื่อง คือ 1.สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ(ศพส.) 12 แห่ง ในด้านวิชาการต่างๆ และพัฒนาพื้นที่ต้นแบบอย่างน้อย 60 แห่ง สนับสนุนพัฒนาศักยภาพและการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ(ศพอส.) และศูนย์พัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนพิการ 3.ประสานหนุนเสริมการดำเนินงานที่เกี่ยวขอ้ง 4.สนับสนุนพัฒนานวัตกรรมรูปแบบการดำเนินงานของพื้นที่นำร่องเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ทำให้เกิดศูนย์เรียนรู้ระบบการดูลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น 63 แห่ง หนังสือขบวนการสร้างเสริมสุขภาพ และวิดิทัศน์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน กล่าวว่า สสส.ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กว่า 3,000 อปท. ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 ของอปท.ทั่วประเทศ ได้พิสูจน์ผลการทำงานตลอด 10 ปีแล้วว่า เป็นต้นแบบตำบลสุขภาวะ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “ตำบลพันธุ์ใหม่” ที่มีลักษณะเด่น 3 ประการ คือ 1. สามารถทำงานโดยอาศัยความร่วมมือของ 4 องค์กรหลักในพื้นที่ ได้แก่ ท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม เพราะหากทั้ง 4 ส่วนไม่ร่วมกันทำงาน งานก็ไม่ประสบความสำเร็จ 2.การทำงานโดยอาศัยฐานข้อมูลชุมชน ที่เป็นของชุมชน และสอดคล้องกับความจริง 3. การตั้งเป้าหมายร่วมกันในพื้นที่ชุมชนต้องมีเป้าหมายเดียวกัน คือ พัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ทำให้ทุกข์น้อย สุขมาก ซึ่งทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้ และคาดว่า จะสามารถขยายผลตำบลพันธุ์ใหม่ ครอบคลุมอปท.ทั่วประเทศได้ภายใน 5 ปี โดยนำกลไก เครื่องมือ และหลักสูตรแนวทางต่างๆ ไปปรับใช้
ด้านรศ.ดร. ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน(ศวช.) กล่าวว่า 10 ประเด็นสำคัญ ที่สสส. ได้สรุปบทเรียน ได้แก่ 1.คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ 2. การดูแลเด็กปฐมวัยในชุมชน 3. การเฝ้าระวังความรุนแรงในครอบครัว 4. การจัดการขยะ 5. การจัดการภัยพิบัติ 6. การดูแลสุขภาพในชุมชน(การแพร่ระบาดของโรคติดต่อต่างๆ) 7. การจัดการอาหารในชุมชน 8.เศรษฐกิจชุมชน 9.การควบคุมการบริโภคยาสูบและสารเสพติด 10. การลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอุบัติเหตุจราจร เหล่านี้เป็นปัญหาของชุมชนที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ด้วยกลไกการทำงานของสสส.และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าสอยู่ ทำให้เกิดการรวมตัวเรียนรู้และแก้ปัญหา เกิดข้อเสนอ แนวทาง และวิธีการปฏิบัติ ต้นแบบนำร่องด้านต่างๆ ที่หากชุมชนเกิดปัญหา ก็สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการทำงานได้ทันที โดยใช้กลไกการสานพลังในพื้นที่ สานพลังผู้นำ และสานพลังองค์กร เป็นปัจจัยความสำเร็จในการทำงานของเครือข่ายฯ