สปสช.จัดหน่วยบริการรองรับผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยนัดผ่าตัดกว่า 2,500 คน ที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญากับคลินิกชุมชนอบอุ่นและโรงพยาบาลเอกชนรวม 64 แห่งในพื้นที่ กทม.
.........................
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการรองรับผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบหลังจากที่ สปสช.ยกเลิกสัญญากับคลินิกชุมชนอบอุ่นและโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ กทม. ที่กระทำผิดในการเบิกจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 64 แห่ง โดยในส่วนของผู้ป่วยโรคเอดส์มีทั้งหมด 2,166 ราย สามารถเข้าใช้บริการในศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. 37 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ 8 แห่ง โรงพยาบาลภาครัฐทุกแห่ง ตลอดจนโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะและโรงพยาบาลแพทย์ปัญญา เพื่อรับการรักษาต่อไป โดย สปสช.จะออกหนังสือขอความร่วมมือกับหน่วยบริการให้จัดบริการให้ และผู้ป่วยโรคเอดส์สามารถไปรับยาที่ไหนก็ได้
สำหรับประเด็นเรื่องความต่อเนื่องในการใช้ยาต้านไวรัสนั้น ทาง สปสช. ได้หารือกับเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV แล้วเห็นว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะรู้สูตรยาที่ตนเองใช้อยู่แล้ว อีกทั้งจะมียาตัวอย่างและซองยาให้แพทย์ทราบด้วย ขณะเดียวกัน สปสช.จะประสานผู้เกี่ยวข้องให้ทำการ stock ยาเพิ่มเติมเพื่อป้องกันปัญหาผู้ป่วยถูกเรียกเก็บเงินหากยาที่เบิกผ่านระบบ VMI ของหน่วยบริการไม่เพียงพอจนต้องใช้ยาที่โรงพยาบาลซื้อเอง ทั้งนี้หากผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีปัญหาในการรับบริการ สามารถติดต่อที่สายด่วน 1663 ปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม ทุกวัน 9.00-21.00 น. หรือเฟสบุ๊คเพจ 1663เพื่อประสานการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาต่อไป
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของผู้ป่วยโรคไตซึ่งมีอยู่ 295 รายนั้น ให้โรงพยาบาลที่ถูกยกเลิกสัญญาส่งต่อผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. เป็นการชั่วคราว อย่างไรก็ดี ในส่วนของหน่วยบริการที่ถูกยกเลิกสัญญา แต่มีสัญญาให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแยกออกจากสัญญาให้บริการสาธารณสุขก็สามารถทำการรักษาที่หน่วยบริการนั้นต่อไปได้
ขณะเดียวกัน ในกลุ่มผู้ป่วยที่นัดผ่าตัด ทาง สปสช.ได้ขอข้อมูลโรงพยาบาลที่ถูกยกเลิกสัญญาแล้ว เพื่อให้ทราบจำนวนและโรคที่ต้องผ่าตัดและได้ประสานกับโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพ เบื้องต้นขณะนี้ได้ประสานกับโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และโรงพยาบาลสหวิทยาการมะลิไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับในขณะนี้ มีผู้ป่วยผ่าตัดต้อกระจก 15 ราย ผ่าตัดข้อเข่า 19 ราย ผ่าตัด OB-GYN หรือการผ่าตัดสูติ-นรีเวชกรรม อีก 3 ราย และศัลยกรรมทั่ว 18 ราย
อนึ่ง การยกเลิกสัญญากับหน่วยบริการทั้ง 64 แห่ง จะมีประชาชนที่ลงทะเบียนกับหน่วยบริการเหล่านี้ได้รับผลกระทบประมาณ 8 แสนคน สปสช.ขอย้ำว่าสิทธิการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประชาชนกลุ่มนี้ยังคงอยู่ โดยในช่วงที่ สปสช.กำลังจัดหาหน่วยบริการแห่งใหม่แทนหน่วยบริการเดิมอยู่นี้ ประชาชนที่เจ็บป่วยทั่วไปหรือมีแผนการรักษาพยาบาลกับหน่วยบริการทั้ง 64 แห่งสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลต่อเนื่องได้ที่โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว และกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติก็สามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลได้ทุกแห่งเช่นกัน