“ดร.เอนก” ชม สอวช. นำเสนอมาตรการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมช่วยเอสเอ็มอีได้เป็นรูปธรรม แนะทำ สมุดปกขาวเสนอรัฐบาล – ผุดไอเดียโครงการสร้างกำลังคนตอบโจทย์ Digital Transformation
-------------------
เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2563 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรแห่งชาติ (สอวช.) ประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 6/2563 โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน โดยในที่ประชุมมีการหารือเกี่ยวกับมาตรการด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ในการสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน
ศาตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกที่มานั่งหัวโต๊ะในเวทีประชุมคณะกรรมการบริหาร สอวช. นับตั้งแต่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี โดยตนเองให้ความสำคัญกับการนำเอาองค์ความรู้และนวัตกรรมไปช่วยเหลือประชาชน ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักของ อว. สำหรับข้อเสนอแนะเชิงมาตรการในการสนับสนุนผู้ประกอบการ ที่ สอวช. ได้นำเสนอเป็นมาตรการที่น่าสนใจ หากมีการวิจัยเชิงลึกเพิ่มเติม ศึกษาความเป็นไปได้ของมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME และนำเสนอเป็นสมุดปกขาวต่อรัฐบาลผ่านสภานโยบายฯ จะเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยเสริมพลังในการผลักดันให้เกิดมาตรการต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ สอวช. หากลไกสนับสนุนเรื่อง Digital Transformation ที่ อววน. สามารถเข้าช่วยขับเคลื่อนได้ โดยร่วมกับสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ผลักดันให้เกิดการสร้างและพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ซึ่งมีความต้องการของตลาดจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 มีบัณฑิตจบใหม่ที่ยังไม่ได้เข้าตลาดแรงงานจำนวนหนึ่ง เราสามารถใช้โอกาสดังกล่าวดึงบัณฑิตเหล่านั้นมาเพิ่มเติมทักษะ (Re Skill – Up Skill) ด้านดิจิทัลให้มีความพร้อมสำหรับความต้องการของตลาด โดยมองถึงทักษะความต้องการกำลังคนสำหรับอนาคตด้วย โดยมองว่ามหาวิทยาลัยเองก็ต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการด้วย
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ยังได้ให้ความสำคัญของเรื่อง Big Data โดยเฉพาะในระบบการอุดมศึกษา ที่ควรรวบรวมข้อมูลนิสิต นักศึกษา ทั้งผลการเรียน ทักษะ หลักสูตรที่ผ่านการอบรม ในดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อจะได้สามารถบริหารจัดการข้อมูลด้านการอุดมศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการบริหารจัดการกำลังคนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาครัฐ ภาคเอกชน และประเทศโดยรวมได้
ด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า หนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลคือการส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม สอวช. จึงได้ผลักดันให้มีการสร้างระบบนิเวศทางการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (Innovation Driven Entrepreneurship: IDE Ecosystem) ขึ้น โดยประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่ลงทุนทำวิจัยและนวัตกรรมจำนวนไม่มาก ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สอวช. ร่วมกับหน่วยงานในระบบได้ผลักดันมาตรการ อววน. เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มาตรการลดหย่อนภาษี 300% ให้กับผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจกรรมนวัตกรรม (RDI Tax 300% Exemption) หรือโครงการสนับสนุนให้บุคลากรวิจัยภาครัฐไปปฏิบัติงานร่วมกับภาคเอกชน (Talent Mobility) เป็นต้น และในปัจจุบัน สอวช. อยู่ระหว่างการพัฒนามาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการอีกหลายมาตรการ เช่น การจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การพัฒนากลไกสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประกอบการขนาดเล็กในการพัฒนานวัตกรรม (SBIR/STTR) การพัฒนาเครือข่ายนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมฯลฯ ตลอดจนดำเนินโครงการศึกษาทดลองกลไกสนับสนุนผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมในรูปแบบใหม่ ๆ และการศึกษาวิจัยเชิงระบบเรื่องการส่งเสริมผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ไข ปรับปรุง กลไกสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีอยู่เดิม ตลอดจนระบุประเด็นที่สำคัญเชิงระบบ เช่น การปลดล็อคกฏหมาย กฎระเบียบ หรือข้อเสนอแนะมาตรการที่เอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถสร้างนวัตกรรมได้ กลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยได้ต่อไป
ดร.กิติพงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อพัฒนามาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการของ สอวช. ได้ดำเนินการต่อยอดมาเป็นข้อเสนอเชิงมาตรการ 3 ด้าน คือ ข้อเสนอเชิงมาตรการทางการเงิน, กำลังคน และโครงสร้างพื้นฐาน โดยข้อเสนอเชิงมาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรม ประกอบด้วย มาตรการทางภาษี โดยการดึงผู้ประกอบการรายย่อยให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษี ผ่านการออกมาตรการยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลังสถานประกอบการที่ลงทะเบียนเข้ามาอยู่ในระบบเพื่อรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ และให้การสนับสนุนทางการเงินในช่วงโควิด-19 และการขยายขอบเขต R&D tax incentive ให้ครอบคลุมนวัตกรรมทางการตลาด ข้อเสนอเชิงมาตรการด้านการให้ทุน โดยการส่งเสริมการให้ทุนโดยตรงแก่เอกชน และสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่อบริษัทขนาดเล็ก ข้อเสนอเชิงมาตรการด้านการให้สินเชื่อ (Loans) โดยการขยายขอบเขตการให้เงินกู้เพื่อครอบคลุมการพัฒนาด้าน Operational excellence รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสังคมไร้เงินสด เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการจัดการ Micro Finance และข้อเสนอเชิงมาตรการด้านการจัดหาเงินทุน ผ่านการเพิ่มการลงทุนจากภาครัฐ ดึงดูดการลงทุนจากเอกชนโดยเพิ่ม Tax Credit ให้กับ VC และเอกชนที่สนใจจะลงทุนกับ SME และสร้างเครือข่าย Business Angel Investors ตลอดจนส่งเสริมการลงทุน Equity Financing ครบวัฏจักรธุรกิจ
นอกจากนี้ ยังเสนอมาตรการด้านการเงินผ่านการจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมีวัตถุประสงค์กองทุนเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนส่งเสริมและสนับสนุน SME ให้มีศักยภาพด้านการวิจัยและนวัตกรรม สร้างโอกาสทางการแข่งขันและเสริมสร้างให้ธุรกิจเติบโต ผ่านการให้บริษัทขนาดใหญ่บริจาคเงินเข้ากองทุน โดยบริษัทจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยยกเว้น Tax 200% ของเงินบริจาค เนื่องจากเป็นการบริจาคเงินเพื่อใช้ในการลงทุนด้านนวัตกรรม และ SME ก็สามารถใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้ผ่านการตั้งศูนย์บ่มเพาะเพื่อช่วยเหลือด้านต่างๆ การลงทุนด้านเครื่องมือ เทคโนโลยีใหม่ๆ การซื้อลิขสิทธิ์ สิทธิบัตรเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และการลงทุนในกิจการที่มีนวัตกรรมที่น่าสนใจ ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดตั้งกองทุนเป็นนิติบุคคลไม่มุ่งหวังกำไรในลักษณะ Social Enterprise โดยสภาอุตสาหกรรมฯ นอกจากนี้ ยังเสนอการพัฒนากลไกสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประกอบการขนาดเล็กในการพัฒนานวัตกรรม ที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสร้างขีดความสามารถด้านการวิจัยและนวัตกรรมของบริษัทขนาดเล็กให้มีศักยภาพในการ Convert R&D Fund to “New Products” and “Create new Job” เพื่อการใช้งบประมาณที่มาจากภาษีให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด
ข้อเสนอนโยบายด้านกำลังคนระดับสูงเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรม เสนอให้มีมาตรการเพื่อเชื่อมโยงกลุ่มนักเรียนทุนที่ไม่มีสังกัดชดใช้ทุนกับบริษัทที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญ โดยปลดล็อคให้นักเรียนทุนสามารถไปทำงานวิจัยเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการและนับเป็นเวลาชดใช้ทุน รวมถึงเสนอให้มีการขยายผลโครงการที่นำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม เช่น โครงการ Hi-Fi, ITAP และมีการออกแบบกลไกเชื่อมโยงกับนักเรียนต่างประเทศเพื่อเพิ่มกำลังคน เป็นต้น
ส่วนข้อเสนอนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน NQI เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำ Roadmap ร่วมกัน มีการ Focus Sector มากขึ้น โดยระบบมาตรฐานของไทยต้องได้รับการยอมรับระดับสากลที่เพียงพอต่อการรองรับอุตสาหกรรมในประเทศ มีบริษัทด้านการทดสอบและมาตรฐานที่ให้บริการในภูมิภาคได้ โดยเฉพาะในสินค้าและบริการนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้น