'ศุภชัย เจียรวนนท์' นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ปลุกพลังภาคธุรกิจไทยใช้พลังความยั่งยืนฟื้นประเทศ ตั้งเป้าเทียบเชิญ 200 องค์กรธุรกิจในไทยร่วมเป็นสมาชิก GCNT ประกาศหนุนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ผลักดันบริษัทไทยจัดทำรายงานความยั่งยืน พร้อมชูโมเดลปลูกฝังความคิดด้านความยั่งยืนให้คนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างพลังแห่งอนาคตที่ยิ่งใหญ่นำการเปลี่ยนแปลงสู่ประเทศไทยเชื่อมระดับโลก
-----------------------------
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษในงาน “GCNT FORUM 2020 : Thailand Business Leadership for SDGs” จัดโดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยโดยเปิดเผยว่า โลกกำลังเผชิญวิกฤตหลายด้านทั้งกรณีโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำ สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และปัญหาเศรษฐกิจ การดำเนินการที่เชื่อมโยงกันระหว่าง GCNT ในประเทศไทย และสมาคม Global Compact ในหลายประเทศทั่วโลกที่มีไม่ต่ำกว่า 60 สมาคม จะเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยยกระดับความร่วมมือในการผลักดันการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน SDGs ให้บรรลุผลสำเร็จได้ เพราะบรรดาบริษัทที่เป็นสมาชิกในสมาคม Global Compact แต่ละประเทศทั่วโลกต่างมีเครือข่ายและการประสานความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมทั้งระหว่างภาคเอกชนด้วยกัน ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนสร้างความร่วมมือและความเป็นปึกแผ่นในระดับโลก
ทั้งนี้ การผนึกกำลังของสมาคม Global Compact ทั่วโลก จะยิ่งสร้างความเข้มแข็งทั้งยังส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาในประเทศไทย ไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก ผ่านเครือข่ายทั่วโลกที่เชื่อมโยงถึงกัน ในฐานะที่เป็นเครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดเพื่อร่วมแบ่งปันวิธีการตลอดจนองค์ความรู้ โดยเฉพาะเรื่องการตระหนักรู้ตลอดห่วงโซ่อุปทานของภาคธุรกิจเอกชน
นายศุภชัย กล่าวต่อว่า หลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ยิ่งถือเป็นบทบาทสำคัญของภาคเอกชนที่จะต้องช่วยคลี่คลายผลกระทบทั้งด้านชีวิตและทางเศรษฐกิจผ่านความร่วมมือในการสร้างความยั่งยืนและความมั่นคงในการดำเนินชีวิตให้ผู้คนหลายล้านคน อาทิ การสร้างความมั่นคงทางชีวิตให้นักเรียนนักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบและหางานทำได้ยากในภาวะเช่นนี้ ดังนั้นจึงเป็นบทบาทสำคัญของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 โดยการแสดงความมั่นใจในเรื่องการลงทุนอย่างต่อเนื่องของภาคเอกชน และความพยายามที่จะทำให้เกิดการจ้างงานต่อเนื่อง ตลอดจนขยายธุรกิจโดยคำนึงถึงการเพิ่มการจ้างงานมากขึ้น ถือเป็นหน้าที่
“สิ่งที่เป็นหน้าที่ของภาคธุรกิจเอกชน คือเราไม่ได้แค่ช่วยให้ตัวเราเองรอด แต่เราจะต้องฝ่าด่านร่วมไปกับภาครัฐ ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างไรบ้าง ดังนั้นการระดมสรรพกำลัง การแบ่งปันองค์ความรู้ และการแบ่งปันหลักการด้านความยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ สู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อการรักษาความมั่นคงทางชีวิต ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบสังคมของเราถือเป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องผนึกกำลังกัน และต้องไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นความร่วมมือที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก การรวมตัวของบรรดาบริษัทและองค์กรธุรกิจในสมาคม Global Compact ทั่วโลก จึงเป็นสิ่งสำคัญในการที่โลกเราจะกลับมาได้ดีกว่าเดิม กลับมาได้แข็งแกร่งกว่าเดิม” นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กฯ กล่าว และเสริมด้วยว่า เป้าหมายของ GCNT จึงเป็นการเพิ่มสมาชิกที่ขณะนี้มี 60 องค์กรธุรกิจให้ได้ถึง 200 องค์กรทั้งกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง เล็ก เพื่อผสานความร่วมมือด้านความยั่งยืนที่เข้มแข็งมากขึ้น ตลอดจนการเร่งสร้างความตระหนักรู้ให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นทั้งอาสาสมัคร นักศึกษา ผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อมาเป็นผู้ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในอนาคตทำให้พวกเขาเข้าใจหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งระบบและตระหนักรู้อย่างแท้จริง
นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า แนวทางการสร้างคนรุ่นใหม่ให้ตระหนักรู้ด้านความยั่งยืนจะต้องให้พวกเขามีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมกับ Global Compact ในรูปแบบ Action Base Learning หรือการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ในฐานะที่ตนเป็นประธานของโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (CONNEXT ED) ได้วางโมเดล Learning Center มีการทดสอบในโรงเรียน 100 แห่งในขณะนี้ สร้างกิจกรรม 3 ด้าน ได้แก่ 1.การมีวินัยทางเศรษฐกิจ 2.การสร้างความเข้าใจด้านสังคมในเรื่องหลักความยั่งยืน 17 ข้อ ที่ต้องทำให้เข้าใจและนำไปปฏิบัติได้จริงจนเป็นแบบอย่างต่อไปได้ 3.ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข เข้าใจเรื่องการปลูกต้นไม้ การลดมลภาวะเป็นพิษในแหล่งน้ำ ได้ทำรายงานและวิเคราะห์ถึงปัญหา ทั้งหมดนี้จะเป็นแนวทางเชื่อมโยงให้เด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบต่อความยั่งยืนในอนาคตผ่านกระบวนการปฏิบัติจริง
นายศุภชัย กล่าวต่อว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาด้านความยั่งยืนคือความมุ่งหวังให้ภาคเอกชนต้องมีส่วนร่วมและนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปดำเนินการอย่างจริงจัง เช่น กรณีของเครือซีพีที่ตั้งเป้าดำเนินการเรื่อง Zero Waste และ Zero Carbon ให้สำเร็จภายในปี 2030 เพราะเราอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ จึงอยากเห็นว่าซีพีจะมีส่วนร่วมอย่างไรในการจะลดเรื่องนี้และพยายามจะเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ให้ได้ ซึ่งเป็นความท้าทายของทั้งผู้บริหารตลอดจนพนักงานของซีพี ดังนั้นหากองค์กรธุรกิจของไทยเลือกดำเนินการ 1 ใน 17 ข้อด้านความยั่งยืนของ SDGs และมีการตั้งเป้าหมายเพื่อท้าทายตัวเองจะถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยยังพร้อมสนับสนุนแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผลักดันให้ภาคเอกชนต้องมีส่วนร่วมและนำเป้าหมายความยั่งยืนไปดำเนินการอย่างจริงจัง ด้วยการให้บริษัทต่าง ๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทำรายงานด้านความยั่งยืนรวมทั้งมีการตรวจสอบรายงานด้วย จะช่วยต่อยอดในเรื่องของธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ที่ ก.ล.ต.ให้ความสำคัญ ทั้งยังช่วยขับเคลื่อนมิติของประเทศไทยในเรื่องของความยั่งยืนได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
“องค์กรธุรกิจสามารถสร้างระบบนิเวศน์ที่สร้างความตระหนักรู้ และสร้างการรับรู้ด้านความยั่งยืนได้ เป็น Turning Point ที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง เพราะเมื่อเกิดการตระหนักรู้และเริ่มมีการวางเป้าหมาย การสร้างรายงานด้านความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจที่กล้าแสดงให้สาธารณะเห็น เสมือนเป็นพันธสัญญาและเงื่อนไขขององค์กร สิ่งนี้จะเป็นจุดที่จะสร้างพลังยิ่งใหญ่ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง” นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าว