สศช. เผยผลการศึกษากรณีตัวอย่างการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ สู่การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจฐานชีวภาพ
....................................................
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ศึกษารวบรวมข้อมูลการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ซึ่งเป็นประเด็นการพัฒนาสำคัญในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560– 2565) ให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้วิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาสำคัญในการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ ประกอบด้วย นิยามของเกษตรอัจฉริยะไม่ชัดเจนทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพในการดูแลนโยบายเกษตรอัจฉริยะอย่างเป็นองค์รวมและครบวงจร
ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบยืนยันข้อค้นพบจากการศึกษาวิเคราะห์ข้างต้น ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า สศช. ได้คัดเลือก เรื่อง“การขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะในมันสำปะหลังในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” มาเป็นกรณีศึกษาเนื่องจากพิจารณาควบคู่กับเป้าหมายการพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่สู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจฐานชีวภาพหลักของประเทศ (Bio-Based Hub) เพื่อให้เป็นฐานรายได้ใหม่ที่สำคัญของประเทศซึ่งเกษตรอัจฉริยะจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันทั้ง 2 ภาคไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เหตุผลที่เลือกเจาะลึกในเกษตรอัจฉริยะของพืชมันสำปะหลัง เนื่องจากทั้ง 2 ภาคมีพื้นที่การเพาะปลูกมันสำปะหลังมากที่สุด เป็นพืชหลักในการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพต่างๆ ของประเทศ และยังไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพดูแลการพัฒนาทั้งระบบ ซึ่ง สศช. ได้ลงพื้นที่จัดประชุมเฉพาะกลุ่ม (FocusGroup) ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อระดมความเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงร่วมกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้
“ทิศทางการพัฒนาภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐบาลจะมุ่งไปสู่การเป็น Bio-hub ซึ่งวัตถุดิบสำคัญของการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพต่างๆ คือ อ้อยและมันสำปะหลัง แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกัน การผลิตอ้อยมีระบบการบริหารจัดการที่ดี เป็นไปตาม พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2527 และมีเจ้าภาพการพัฒนาที่ชัดเจนแล้ว ในขณะที่การผลิตมันสำปะหลังยังไม่มีการบริหารจัดการทั้งระบบและไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพชัดเจน นอกจากนี้ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลังที่สำคัญของประเทศ มีพื้นที่การปลูกมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ ดังนั้น หากสามารถส่งเสริมการใช้เกษตรอัจฉริยะในการผลิตมันสำปะหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถผลักดันให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็น Bio-hub ของประเทศได้ตามนโยบายที่วางไว้”เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าว
การจัดประชุมระดมความเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกรและสถาบันการศึกษา จัดขึ้นรวม 2 ครั้ง ณ จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดนครราชสีมาในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นของที่ประชุม หน่วยงานและภาคีที่เข้าร่วมเห็นไปในทิศทางเดียวกับผลการวิเคราะห์เบื้องต้นของ สศช. ว่า ความไม่ชัดเจนของนิยาม การขับเคลื่อนที่ขาดการบูรณาการและการขาดหน่วยงานเจ้าภาพในการดูแลนโยบายเกษตรอัจฉริยะคือปัญหาสำคัญและเป็นประเด็นท้าทายที่ต้องเร่งหาทางแก้ไข
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังสะท้อนปัญหาการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะในระดับพื้นที่เพิ่มเติม อาทิ ด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเกษตร เช่น ดิน แหล่งน้ำ ไฟฟ้า ยังไม่ดีพอ ทั้งในด้านคุณภาพและความทั่วถึง อีกทั้งระบบการจัดเก็บข้อมูลการผลิตและการตลาดยังกระจัดกระจาย ทำให้การคาดการณ์แนวโน้มการผลิตและความต้องการของตลาดยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะสนับสนุนการตัดสินใจด้านการผลิตของเกษตรกรนอกจากนี้ แหล่งเงินทุนที่สนับสนุนการใช้เกษตรอัจฉริยะก็ยังมีข้อจำกัดและเกษตรกรยังเข้าถึงได้ยาก รวมถึงเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีและการแปรรูปผลผลิต บางรายยังไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตเนื่องจากไม่มั่นใจในผลที่จะเกิดขึ้นและความต้องการของตลาดที่จะรองรับผลผลิต
เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้ข้อค้นพบจากเวทีระดมความเห็นมีน้ำหนักและตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ สศช. ยังได้นำความเห็นที่ได้จากการจัดประชุม Focus group มาประมวลและจัดทำเป็นแบบสอบถามความคิดเห็นจัดส่งไปยังภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการเอกชน สถาบันการศึกษาที่ทำการศึกษา วิจัยและพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งเกษตรกร ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 800 ราย ได้รับกลับคืนมา 400 กว่าราย ซึ่งผลการประมวลแบบสอบถามก็ยืนยันความเห็นของที่ประชุม Focus Groupข้างต้น
“ในขั้นตอนต่อไป สศช. จะพยายามศึกษาเจาะลึกในรายละเอียดและทำงานกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อออกแบบแนวทางและวิธีการในการขับเคลื่อนบางประเด็นที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ประเด็นที่หนึ่ง การกำหนดขอบเขตและนิยามของเกษตรอัจฉริยะที่ชัดเจน และสร้างความเข้าใจที่ตรงกันให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเกษตรกรด้วย และประเด็นที่สองคือ หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดหน่วยงานหรือกลไกหลักที่เป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะอย่างครบวงจร และผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้มีการวางระบบการพัฒนา การเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งในด้านการส่งเสริมความรู้และทักษะของเกษตรกร การพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัยและพัฒนา การสนับสนุนแหล่งเงินทุน การประสานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม การพัฒนาฐานข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดอย่างเป็นระบบและเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการผลิตของเกษตรกร รวมทั้งการประสานการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะ”เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวสรุป