เอสซีจี ผนึกกำลัง สถาบันปาสเตอร์ ฝรั่งเศส และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิจัยและพัฒนานวัตกรรมป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออก เพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขอย่างยั่งยืน นำร่องทดสอบการใช้งานในพี้นที่ จ.ระยอง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ร่วมกับสถาบันปาสเตอร์ ฝรั่งเศส และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าวิจัยและพัฒนา “นวัตกรรมกับดักยุงลาย” หรือ “The Mosquito Trap” เพื่อป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออกซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก โดยนวัตกรรมนี้จะช่วยลดปริมาณการแพร่พันธุ์ยุงลายที่เป็นพาหะสำคัญของโรค ส่งผลให้การระบาดของโรคไข้เลือดออกลดลง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเฉลี่ยปีละ 100,000 คน และเสียชีวิตกว่า 100 คน ทั้งนี้ งานวิจัยและพัฒนาดังกล่าวอยู่ในระหว่างการวิจัยภาคสนาม โดยทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานกับ “ยุงลายสวน” ในพื้นที่ จ.จันทบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่สวนป่าใกล้ชุมชน และทดสอบกับ “ยุงลายบ้าน” ในพื้นที่ จ. ระยอง ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอัตราผู้ป่วยไข้เลือดออกมากเป็นอันดับสองของประเทศ โดยเอสซีจี ร่วมกับเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง นำร่องทดสอบกับชุมชนกว่า 50 ครัวเรือนในชุมชนตลาดมาบตาพุดและชุมชนบ้านบน คาดว่าการทดสอบจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม และมีแผนจะขยายการใช้งานในวงกว้างภายในปี 2563
ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เปิดเผยว่า “นวัตกรรมกับดักยุงลาย หรือ The Mosquito Trap เป็นความร่วมมือระหว่างธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และสถาบันปาสเตอร์ ฝรั่งเศส โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะหานวัตกรรมเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก โดยเฉพาะในพื้นที่เขตร้อนอย่างเอเชียและแอฟริกา ทั้งนี้ในประเทศไทย เราได้รับความร่วมมือจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในการทดสอบทั้งในห้องปฏิบัติการและภาคสนาม เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของกับดักยุงนี้ก่อนนำไปใช้อย่างแพร่หลายต่อไป”
“นวัตกรรมกับดักยุงลาย เป็นหนึ่งในนวัตกรรมเพื่อสังคมที่เอสซีจีมุ่งมั่นพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพด้านสาธารณสุขและสุขภาพ ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในประเทศไทยซึ่งมีจำนวนมากโดยเฉลี่ยถึงปีละ 100,000 คน โดยนวัตกรรมดังกล่าวมีการทำงานสองส่วนหลัก ๆ คือ ส่วน “กับดักยุง” ทำหน้าที่ดึงดูดยุงลายให้เข้ามาวางไข่ในกับดัก และ “สารเติมแต่งพิเศษที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยเอสซีจีพัฒนาต่อยอดการใช้สาร BTI (Bacillus thuringiensis israelensis) ซึ่งเป็นสารกำจัดลูกน้ำยุงลายที่ใช้กันอยู่เดิม โดยคิดค้นสารเติมแต่งเพื่อเสริมให้ BTI มีคุณสมบัติสามารถเกาะติดกับขายุงได้ดี เมื่อยุงลายบินไปเกาะในแหล่งน้ำแห่งใหม่ สารพิเศษที่ติดมากับขายุงจะละลายลงในน้ำ ช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลายในแหล่งเพาะพันธุ์แหล่งใหม่ โดยไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในแหล่งน้ำนั้น ๆ”
ล่าสุด เอสซีจี ได้นำร่องทดสอบประสิทธิภาพของนวัตกรรมกับดักยุงลาย ในส่วนของ “ยุงลายบ้าน” ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตชุมชนและครัวเรือน โดยได้รับความร่วมมือจากเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง ในการนำนวัตกรรมดังกล่าวไปทดสอบใช้งานจริงในพื้นที่ชุมชนตลาดมาบตาพุดและชุมชนบ้านบน จ.ระยอง จำนวนกว่า 50 ครัวเรือน ทั้งนี้จะใช้เวลาในการเก็บข้อมูลรวม 3 เดือน เพื่อนำไปพัฒนากับดักยุงลายก่อนที่จะเผยแพร่ใช้งานต่อไป โดยก่อนหน้านี้ ได้ทดสอบการใช้งานนวัตกรรมกับดักยุงลายทั้งในห้องทดลองและภาคสนาม จำนวน 200 จุด โดยวิจัยภาคสนามที่ จ.จันทบุรี ซึ่งมี “ยุงลายสวน” ชุกชุมตลอดปี เนื่องจากเป็นพื้นที่สวนป่าใกล้ที่พักอาศัย ซึ่งได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
ด้าน ดร.อภิวัฏ ธวัชสิน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้เลือดออกเป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขของไทยที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยเฉพาะ จ.ระยอง ที่อัตราผู้ป่วยสูงเป็นอันดับสองของประเทศ ดังนั้น ชุมชนจึงควรมุ่งเน้นการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกล่วงหน้า โดยการควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน โดยมุ่งเน้นดำเนินการควบคุมอย่างเข้มข้นในพื้นที่เสี่ยงสูงและในช่วงฤดูฝน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ออกมาตรการในการป้องกันควบคุมไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง อาทิ การวิจัยพัฒนาสารดึงดูดให้ยุงลายมาวางไข่ และการใช้สารกำจัดลูกน้ำยุงลายชนิดใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนานวัตกรรมกับดักยุงลายจากเอสซีจี และสถาบันปาสเตอร์ ฝรั่งเศส ถือว่าช่วยตอบโจทย์ด้านการสาธารณสุขเป็นอย่างมาก หากสามารถนำไปใช้แพร่หลายในชุมชน เชื่อมั่นว่าจะช่วยยกระดับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของชุมชนได้อย่างยั่งยืน”
ในขณะที่ นายถวิล โพธิบัวทอง นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “เทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง เห็นความสำคัญของการรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกแก่ประชาชน โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ออกให้ความรู้กับประชาชนถึงวิธีป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลายที่เป็นพาหะไข้เลือดออก สำหรับครั้งนี้ ขอขอบคุณที่ทางเอสซีจี มอบ “นวัตกรรมกับดักยุงลาย” โดยเลือกนำร่องทดลองที่ชุมชนตลาดมาบตาพุด และชุมชนบ้านบนจำนวนกว่า 50 ครัวเรือน นับเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก”
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตจากไข้เลือดออกโดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยมากกว่า 1 แสนรายต่อปี และอัตราการเสียชีวิตมากกว่า 100 รายต่อปี ในปี 2563 มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศกว่า 25,000 ราย เสียชีวิต 15 ราย โดย 5 จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ ชัยภูมิ ระยอง ขอนแก่น แม่ฮ่องสอน และนครราชสีมา