ที่ปรึกษา รมว.สธ. หนุน รพ. ปรับรูปแบบ “โครงการรับยาร้านยาใกล้บ้าน” สู่ “โมเดล 3” เพิ่มศักยภาพร้านยาบริหารจัดการด้านยา หลังโมเดล 1-2 ได้รับการตอบรับ ประชาชนได้ประโยชน์โดยตรง ไม่ต้องรอคิวรับยาที่ รพ. ช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 เผยช่วงเริ่มต้น จับมือ อภ. จัดซื้อยายึดตามราคากลาง พร้อมดึง สวรส. ร่วมประเมินผล เผยล่าสุดมี 17 รพ. 91 ร้านยา เข้าร่วมแล้ว คาดเดินหน้าเต็มรูปแบบ 1 ก.ย. นี้
ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุม “แนวทางการดำเนินงานโครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านในรูปแบบที่ 3 (โมเดล 3) ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข” โดยมี นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ กองบริหารสาธารณสุข สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมให้ข้อมูลพร้อมชี้แจง ซึ่งมีผู้แทนเภสัชกรโรงพยาบาลร่วมโครงการเข้าร่วมประชุม
ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสาธารณสุขของประเทศเพื่อสู่สิ่งที่ดีกว่า ซึ่งไทยอยู่อันดับที่ 6 ประเทศที่มีระบบสุขภาพดีที่สุดของโลก สิ่งที่ต้องทำจากนี้ไปคือการก้าวข้ามและจัดการกับความท้าทายเพื่อนำไปสู่ระบบสาธารณสุขใหม่ ทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การพัฒนาสุขภาพในเขตเมือง โรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ อย่างโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ขณะนี้ การนำบิ๊กดาต้า เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ มาสนับสนุนระบบสาธารณสุข เป็นต้น โดยมีเป้าหมายสำคัญสู่การบรรลุตามนโยบาย “ประเทศไทยแข็งแรง เศรษฐกิจไทยแข็งแรง ประชาชนแข็งแรง” ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 การผลักดันเทคโนโลยีสาธารณสุขเราสามารถขับเคลื่อนไปได้มาก ในการจัดบริการยุค New Normal เพื่อลดความแออัดและแพร่กระจายเชื้อ โมเดลหลายอย่างได้เกิดขึ้น รวมถึงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน ซึ่งขณะนี้ได้พัฒนาเข้าสู่โมเดล 3 ที่นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการลดการรอคอยรับยาที่ห้องยา ลดความแออัดในโรงพยาบาล และเพิ่มความสะดวกในการรับบริการให้กับประชาชนยิ่งขึ้น รวมถึงลดภาระงานของโรงพยาบาล เน้นกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีอาการคงที่ โดยให้ร้านยาทำหน้าที่บริหารจัดการยาให้กับผู้ป่วย และยังเป็นการเชื่อมโยงความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ตามเป้าหมายโครงการรับยาที่ร้านยาโมเดล 3 ร้านยาจะจัดซื้อยาและสำรองยาเพื่อจ่ายยาให้กับผู้ป่วย แต่ในช่วงแรกเริ่มต้นระบบและเป็นการนำร่อง องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการจัดซื้อยาแทนร้านยาก่อน โดยใช้ราคากลางอ้างอิงในการจัดซื้อ และกระจายยาโดยใช้ระบบ VMI ไปที่ร้านยา ซึ่งขณะนี้มีรายการยาในระบบกว่า 400 รายการแล้ว ในอนาคตหากพื้นที่ใดมีความพร้อมที่สามารถจัดซื้อเองก็จะปล่อยให้ดำเนินการเอง เป็นการดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนมากขึ้น ซึ่งตามแผนกำหนดจะเริ่มโครงการฯ เต็มรูปแบบได้ในวันที่ 1 กันยายน 2563
“จุดเริ่มต้นของโครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านเรามีประชาชนเป็นตัวตั้ง ที่ผ่านมาพบว่าประชาชนที่ใช้บริการต่างพึงพอใจ เพราะสะดวกมาก หาหมอแล้วก็รับใบรับยาแล้วก็กลับบ้านได้เลย จากเดิมที่เคยต้องรอรับยาที่ห้องยาโรงพยาบาล บางแห่งคิวรอเป็นร้อยคิว ใช้เวลาเป็นชั่วโมงกว่าจะได้ยา แต่ช่องทางรับยาที่เป็นนวัตกรรมใหม่นี้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องรอ แต่ไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านแทนตามช่วงเวลาที่สะดวก และยังสามารถซักถามหรือปรึกษาปัญหาการใช้ยาได้โดยละเอียด ต่างจากที่โรงพยาบาลที่เภสัชกรต้องเร่งรีบเพราะด้วยผู้ป่วยรอรับที่มีจำนวนมาก และที่สำคัญคือช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 และโรคติดต่ออื่นๆ ให้กับผู้ป่วย เรียกว่าเป็นโครงการเป็นประโยชน์กับประชาชนโดยตรง” ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข กล่าว
ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินงานโครงการรับยาร้านยาใกล้บ้าน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม -1 กรกฎาคม 2563 มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการ 130 แห่ง ร้านยา 1,033 แห่ง ผู้ป่วยสะสม 17,154 คน และจำนวนการรับยา 24,870 ครั้ง ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบที่ 1 อย่างไรก็ตามขณะนี้มีโรงพยาบาลที่แสดงความจำนงปรับโครงการรับยาร้านยาใกล้บ้านเป็นรูปแบบที่ 3 แล้วจำนวน 17 แห่ง ร้านยาจำนวน 91 แห่ง โดยโรงพยาบาลที่เข้าร่วมนี้ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลอันดับต้นๆ ที่มีผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการรับยาร้านยาจำนวนมาก และยังมีโรงพยาบาลที่สนใจร่วมโครงการเพิ่มเติม
ทั้งนี้ สปสช.จะมีการจัดชี้แจงแนวทางการดำเนินงานให้กับโรงพยาบาลและร้านยาอีกครั้ง ในระหว่างนี้ขอให้โรงพยาบาลและร้านยาร่วมกันหารือถึงแนวทางการดำเนินการ ทั้งรายการยา กลู่มผู้ป่วย ระบบเชื่อมต่อข้อมูล และการประสานงาน เป็นต้น โดยโครงการรับยาร้านยาใกล้บ้านรูปแบบที่ 3 นี้ ในปีแรกยังเป็นการทดลองดำเนินการและศึกษาข้อมูล โดยมีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมเก็บข้อมูลและประเมินผล เพื่อนำไปสู่การปรับรูปแบบให้เหมาะสมต่อไป