ไทยพีบีเอส ร่วมกับ Hfocus เปิดเวทีเสวนา “เตรียมพร้อมอย่างไรกับการระบาดรอบที่สอง ของ COVID-19 เมื่อสุขภาพกำหนดสังคม”
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส โดยศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ และ The Active ร่วมกับ สำนักข่าว Hfocus จัดงาน "Virtual Policy Forum : เตรียมพร้อมอย่างไรกับการระบาดรอบที่สองของ COVID-19 เมื่อสุขภาพกำหนดสังคม" เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 เวลา 08.45 – 16.30 น. ณ ห้องเธียเตอร์ ชั้น 1 อาคารศูนย์การเรียนรู้ไทยพีบีเอส โดยจัดการประชุมในรูปแบบ Virtual Policy Forum เปิดโอกาสให้ผู้ชมที่สนใจลงทะเบียนผ่านระบบ Zoom Meeting เพื่อร่วมซักถามและแสดงความคิดเห็นระหว่างการเสวนาได้ เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของการเสวนาในยุค New Normal
ด้าน รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. กล่าวในช่วงเปิดการเสวนาว่า “รู้สึกยินดีและขอขอบคุณที่ทุกท่านให้เกียรติไทยพีบีเอสได้ทำหน้าที่สำคัญในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และสนใจเข้าร่วมเวทีเสวนาทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย ซึ่งจะได้ร่วมกันให้ข้อมูลสำคัญ ประเมินแนวโน้มสถานการณ์ และแสวงหาแนวทางการป้องกัน สร้างความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข ไทยพีบีเอสเชื่อว่าการสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์ และความคิดเห็นของภาคส่วนต่าง ๆ จะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ ๆ จากสถานการณ์นี้ ทั้งด้านสาธารณสุข สังคม และเศรษฐกิจ และในช่วงเวลาที่เราต้องปรับตัวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่อรุนแรง ทีมงานไทยพีบีเอส ได้ปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมเพื่อรักษาระยะห่างทางกายภาพ ด้วยการจัดเสวนาในรูปแบบ Virtual Policy Forum ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจลงทะเบียนผ่านทาง Zoom จำนวนมาก นับเป็นแนวทางการทำงานแบบใหม่ที่ทีมงานได้พยายามเรียนรู้และปรับตัวให้ยืดหยุ่นกับสถานการณ์”
ก่อนเข้าเสวนาช่วงเช้า ศ.นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาเปิดงาน หัวข้อ “ผลกระทบ COVID-19 เมื่อสุขภาพกำหนดวาระทางสังคม” ซึ่งได้กล่าวตอนหนึ่งในช่วงปาฐกถา ว่า “ในช่วง 7 เดือนหลังการระบาดของโควิด-19 ยังคงมีผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทะลุ 15 ล้านคน โดยเฉลี่ยแล้วมีคนไข้เพิ่มขึ้นทุก ๆ 2 แสนคนต่อวัน และเนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ ทำให้ยังไม่มียารักษา ยาที่ใช้อยู่ก็เป็นยาที่ไม่ตรงกับโรค เป็นยายืมจากที่อื่นมาใช้ และยังไม่มีวัคซีน สิ่งที่ต้องทำเมื่อยังไม่มียาและวัคซีนก็คือวิธีการล็อกดาวน์ แต่ที่ได้ผลดีที่สุดคือการเว้นระยะห่างทางสังคม”
‘ประเทศไทยถือว่าทำได้ดี ไม่ใช่เพราะบังเอิญ แต่เพราะวางระบบสาธารณสุขพื้นฐานเอาไว้ได้ดีมาก’
ศ.นพ.อุดม คชินทร ระบุอีกว่า “ต้องสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและการควบคุมโรค เพราะหากรอดตายจากโรคได้ ก็อาจจะตายเพราะอดตายได้ ประชาชนต้องทำใจว่ามันอาจจะมีหลายรอบ แต่ต้องควบคุมให้ได้ ยิ่งในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง จะมีคนต่างชาติ หนีเข้ามาอยู่ในเมืองไทยเรามองว่านี่คือโอกาส ไม่ต้องไปกลัว เขาจะมาใช้เงินในบ้านเรา เป้าหมายตอนนี้ ไม่ต้องการให้ผู้ป่วยติดเชื้อเป็นศูนย์ แต่ต้องการให้เกิดการระบาดเป็นรอบเล็ก ๆ อาจจะต้องเปลี่ยนการสื่อสารใหม่ให้ประชาชน ไม่ตั้งความหวังว่าจะต้องเป็นศูนย์ตลอดไป
ในช่วงหลังสิ้นเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ประเทศไทยจำเป็นต้องเปิดประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจอยู่รอด ซึ่งประเมินไว้ 3 ฉากทัศน์ คือ ฉากทัศน์ที่หนึ่ง สถานการณ์ควบคุมได้เต็มที่ หลังปลดล็อกทุกภาคธุรกิจ รวมทั้งการเดินทางภายในและระหว่างประเทศ พบผู้ป่วยประปราย 15-30 คนต่อวัน โดยเน้นการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย, พบผู้ป่วยรายใหม่จากการค้นหาเพิ่มเติม และค้นหาเชิงรุกในชุมชน
ฉากทัศน์ที่สอง สถานการณ์ควบคุมได้ดีมีความเสี่ยงต่ำ การระบาดอยู่ในวงจำกัด ระบบสาธารณสุขรองรับได้ หลังปลดล็อกทุกภาคธุรกิจ รวมทั้งการเดินทางภายในและระหว่างประเทศพบผู้ป่วย 50-150 คนต่อวัน โดยเน้นการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ทั้งกลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย และคนเดินทางเข้าประเทศ
ฉากทัศน์ที่สาม สถานการณ์ควบคุมได้ยาก มีการระบาดซ้ำคล้ายช่วงเหตุการณ์ระบาดจากสนามมวย สถานบันเทิง และมีการเคลื่อนย้ายประชากรจำนวนมาก ทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยไม่มีการกักกันติดตาม อาจพบผู้ป่วย 500-2,000 คนต่อวัน ระบบสาธารณสุขอาจไม่เพียงพอในการรองรับผู้ป่วย ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะอยู่ ฉากทัศน์ 1-2 ที่กดจำนวนผู้ติดเชื้อให้อยู่ในระดับที่รับได้ โดยมองปัจจัยหลักของการระบาด มาจากแรงงานที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย เพราะในท่าอากาศยาน สามารถควบคุมได้ ที่น่ากลัวคือตามด่านพรมแดนธรรมชาติ ข้อมูลล่าสุดตอนนี้ มีแรงงานชาวเมียนมาจำนวน 60,000 คน ที่ลงทะเบียนขอเข้าไทย และอีก 40,000 คน กำลังทำเรื่อง นับเป็นแสนคนที่จะเข้ามาอย่างถูกต้อง แต่ก็ยังมีที่มาแบบใต้ดินอีกจำนวนไม่น้อย”
ทั้งนี้ ศ.นพ.อุดม คชินทร ยังกล่าวว่า “มีสามทางเลือกที่จะยุติ COVID-19 คือ ข้อหนึ่ง การพัฒนาวัคซีน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหนึ่งปี หรือหนึ่งปีครึ่ง อย่างเร็วที่สุด ข้อสอง การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ต้องมีประชากรในประเทศติดเชื้อถึง 70% ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้มีการสุ่มตรวจภูมิคุ้มกันของคนไทยพบว่ามีภูมิคุ้มกันต่อ COVID-19 น้อยกว่า 10 % และ ข้อสาม ไวรัสกลายพันธุ์จนไม่แพร่เชื้อ ซึ่งเป็นเรื่องยากแต่ก็มีความเป็นไปได้”
ทั้งนี้ การประเมินการระบาดของ COVID-19 แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะแรก พยายามควบคุมผู้ติดเชื้อ ซึ่งประเทศไทยผ่านระยะนี้มาแล้ว เข้าสู่ระยะที่ 2 ผ่อนคลายมาตรการ คลายล็อกดาวน์ และกำลังเข้าสู่ระยะที่ 3 คือฟื้นตัวและปรับตัว ซึ่งไทยกำลังจะอยู่ในระยะนี้ คาดว่าจะสิ้นสุดปลายปี หรือกลางปี 2564 ก่อนจะเข้าสู่ระยะที่ 4 คือการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ และปรับโครงสร้างสังคม ซึ่งบางมาตรการอาจต้องทำไปตลอด แสดงให้เห็นว่าเรื่องสุขภาพเป็นสิ่งที่กำหนดวาระทางสังคม คาดว่าหากคนหลุดชายแดนจะเสี่ยงแพร่เชื้อสะสม 7 พันคนใน 15 เดือน
สำหรับการเสวนาช่วงเช้าหัวข้อ "นโยบาย - ผลกระทบ - การรับมือ การระบาดรอบที่สองของ COVID-19” ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมเสวนา โดย นายวราวิทย์ ฉิมมณี ผู้ประกาศข่าวไทยพีบีเอสดำเนินการเสวนา
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กล่าวถึงประเด็นความเสี่ยงการระบาดรอบสอง ว่า “มีโอกาสสูงมากที่จะมีการระบาดรอบสอบในครึ่งปีหลัง แต่อย่าตกใจ เพราะจะสามารถจัดการได้ โดยปัจจัยที่จะทำให้ระบาดรุนแรงหรือไม่ ทางระบาดวิทยามีสามอย่าง คือ ตัวเชื้อ ตัวคน และสังคม สำหรับตัวเชื้อนั้น สายพันธ์หลักคือ D614G มีข่าวว่ามีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ แต่ความรุนแรงอาจไม่มาก ต้องติดตามต่อไป ปัจจัยตัวเชื้อไม่เท่าไหร่ แต่ตัวคนก็สำคัญ ต้องมีมาตรการป้องกันเหมือนเดิม ส่วนปัจจัยสิ่งแวดล้อม เรามีระบบค่อนข้างพร้อมมาก จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องระบาดรอบสอง”
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ กล่าวว่า ช่วงการระบาดแรก ๆ จุดที่กลัวที่สุด คือ การระบาดในโรงพยาบาลอย่างเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้จัดตั้งคลินิกไข้หวัด ใครมีไข้ ใครกลุ่มเสี่ยงให้แยกไปที่คลินิกไข้หวัด ซึ่งโรงพยาบาลทุกสังกัดมาร่วมกันดำเนินการจัดห้องความดันลบ การเตรียมพร้อมทุกอย่างนอกจากนั้น เรายังมี Hospitel ที่เอาหอพัก เอาโรงแรมมาทำการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง ขณะนั้นมี 600 กว่าเตียง แต่ปัจจุบันปิดหมดแล้ว เพราะไม่มีคนไข้ แต่ขณะนั้นการวางรูปแบบเช่นนั้นถือว่า มีแค่เฉพาะไทยที่ทำลักษณะนี้
กรมควบคุมโรคมีการประมาณการกรณีมีผู้ติดเชื้อเดินทางข้ามชายแดนมา โดยหากเดินทางเข้ามาประเทศ 50 คนต่อเดือน ก็จะมีการประมาณการณ์ผู้ป่วย 7,000 กว่าคนใน 15 เดือน ตกเดือนละ 500 คน แต่ระบบการบริการทางการแพทย์เราเตรียมพร้อมรองรับไว้ อย่างกรณีเตียงรองรับ ปัจจุบันเรามีเตียงรองรับทั้งหมดกว่า 22,052 เตียงทั่วประเทศ แบ่งเป็นสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอยู่ที่ 18,405 เตียง และนอกสังกัดกระทรวงฯ อีก 3,647 เตียง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเตียงทั้งหมด 2,471 เตียงทั้งของ รพ.รัฐและเอกชน ขณะที่ไอซียูมี 600 เตียง แต่หากเป็นเตียงไอซียูแบบประยุกต์มีกว่า 1,000 เตียง ดังนั้น ถ้ามีการระบาดระลอกสอง บริการทางการแพทย์จะไม่หยุด ไม่ล็อกดาวน์แน่นอน แต่จะเป็นการแพทย์วิถีใหม่”
ขณะที่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา กล่าวว่า ไวรัส 1 ตัว จะแพร่ไปยังคนอื่นนั้น คนหนึ่งคนหากไม่เจอคนอื่น โอกาสติดเชื้อจะน้อยลง จึงต้องให้อยู่บ้าน แต่ตอนนี้เราเริ่มผ่อนคลาย เพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้น ดังนั้นก็ต้องแลกมา แต่ก็ต้องมีมาตรการควบคุมให้ดี เช่น หนึ่งคนออกไป เจอคน 4 คน แต่หากผมรักษาระยะห่างก็จะป้องกันตัวเองได้ และหากผมใส่หน้ากากอนามัย และคน 4 คนก็ใส่หน้ากากอนามัยด้วยก็ยิ่งลดความเสี่ยงอีก สรุปคือ หากรักษาระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัยก็จะลดได้มาก และต้องล้างมือบ่อยๆ ก็จะยิ่งดี ไม่ต้องรอวัคซีน แต่เราช่วยกันเองได้ หรือแม้แต่ ยาฆ่าเชื้อ ณ ปัจจุบันไม่ว่าตัวไหนเราไม่ได้ผลิตเอง มาจากต่างประเทศ ดังนั้น เราต้องช่วยกัน หากคนติดเชื้อเยอะ ๆ และรุนแรงต้องใช้ยาเราจะทำอย่างไร
ข้อมูลล่าสุดจากคิงส์คอลเลจ ประเทศอังกฤษ ติดตามคนไข้โควิดจำนวน 63 คน พบว่า 60 คนมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น แต่เมื่อติดตามต่อเนื่องพบว่า ภูมิคุ้มกันลดลงและหายไป 17% ใน 2 เดือน หากเกิดขึ้นจริงๆ คือ ไวรัสตัวนี้อาจไม่ได้กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ที่เราเคยบอกว่าไม่เกิดเชื้อซ้ำ แสดงว่าอาจไม่ใช่ แต่ที่พูดไม่ใช่ให้ตระหนกตกใจ เพราะในแง่วิชาการกำลังติดตาม อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย ทางรพ.รามาธิบดี พบว่า มี 3% เท่านั้นที่มีภูมิคุ้มกัน แต่ศิริราชเคยตรวจในนักศึกษาศิริราชกลับไม่ขึ้น จึงต้องติดตามต่อไป”
ขณะที่ในเวทีเสวนาช่วงบ่ายหัวข้อ "วัคซีน - ยา : ความหวัง - โอกาส – วิกฤต" ได้รับเกียรติจาก นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม รศ.ภกญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม นพ.ทวิราป ตันติวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMa) นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุขด้านต่างประเทศ ดำเนินการเสวนาโดย นางสาวณาตยา แวววีรคุปต์ และ นายอาทิตย์ โกวิทวรางกูร
ทั้งนี้ นพ.โสภณ เมฆธน กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่สามารถที่จะผลิตยาตัวนี้เองได้ แต่ก็มีแผนที่จะขยายการผลิตในระดับอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคมนี้ และตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2565 จะต้องเป็นผู้ผลิตสารตั้งต้นในการผลิตยาเอง แม้จะเป็นเรื่องยากของไทยแต่ก็ต้องตั้งเป้าหมายเอาไว้
ขณะเดียวกัน ชุด PPE (Personal Protective Equipment) หรือ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลของไทย ก็พัฒนาไปมาก จากเดิมที่ไม่เคยมีผลิตและต้องนำเข้าจากเวียดนาม แต่หลังจากที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ต้องใช้ จึงได้พูดคุยกับกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ และมหาวิทยาลัยหลายสถาบัน โดยภายในเดือนเดียว ก็สามารถผลิตขึ้นใช้เองได้ ปัจจุบันมีจำนวนผู้ประกอบการ 25 ราย ที่สามารถผลิต ชุด PPE เพื่อรองรับได้เป็นล้านตัว ด้านหนึ่งเป็นโอกาส ที่จะควรเปิดตลาดและส่งออก แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า การตรวจรับรองมาตรฐาน ใครจะมาช่วยอุดช่องว่างส่วนนี้
สำหรับวัคซีนถือเป็นความหวังอย่างมาก กำลังหารือในการประสานเทคโนโลยีการแบ่งบรรจุ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนได้ ต้องรอผลการเจรจา และอาจใช้เทคโนโลยีด้วยการนำเชื้อฉีดเข้าไข่ฝัก เพื่อสร้างภูมิต้านทานออกมา โดย อภ. มีโรงงานลักษณะดังกล่าวที่ จ.สระบุรี และทดลองในหนู คาดว่าจะทราบผลปลายเดือนตุลาคม2563 นอกจากนี้ยังให้งบสนับสนุน ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดลในการวิจัย Cell- based COVID-19 Vaccine ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีนี้ จึงกำลังหารือว่าจะลงทุนเรื่องนี้อย่างไร ทั้งหมดก็เพื่อให้ไทยพึ่งพาตนเองให้ได้”
ด้าน รศ.ภกญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กล่าวว่า “กลไกธุรกิจยาค่อนข้างซับซ้อนหลายอย่างก็เป็นหลุมดำ อย่างการวิจัยพัฒนานั้น เมื่อทำสำเร็จมีการตั้งราคาแพงเกินไปหรือไม่ จึงเกิดคำถามกรณีวัคซีน COVID-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ที่กระจายไปทั่วโลก ความหวังของทุกคนก็มองว่า วัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาน่าจะเป็นสินค้าของสังคมโลก ไม่ควรมีการผูกขาด ประเด็นคือจะบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งระดับโลกก็มีการพูดคุยเรื่องนี้ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ ยา COVID-19 ก็มีการพัฒนา แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีมาตรฐานแน่ชัดในการรักษาโควิด หากเราไม่เตรียมตัวในคลื่นลูกที่ สอง และหากผู้ป่วยมาก แต่เราไปมุ่งยาโควิด วัคซีน ปัญหาระบบยาอื่น ๆ จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ จากบทเรียนคลื่นลูกที่หนึ่งต้องพิจารณาปัญหาภาพรวม ทั้งนี้ อุตสาหกรรมด้านยาของประเทศไทยตอนนี้อ่อนแอมาก ทั้งที่เมื่อก่อนอุตสาหกรรมยาเข้มแข็ง ปัจจุบันมีความสามารถผลิตยาสามัญชนิดเดิม ไม่สามารถผลิตยาชนิดใหม่ ๆ ได้ ดังนั้น ภาครัฐจึงควรสนับสนุนอุตสาหกรรมยา ด้วยการวางแผน ข้อมูลเรื่องห่วงโซ่อุปทาน และการทรานเฟอร์เทคโนโลยีก็มีส่วนในการช่วยพัฒนาด้วย”
นพ.ทวิราป ตันติวงษ์ กล่าวว่า “ปัจจุบันยา และวัคซีนโควิดมีการผลิตในหลายประเทศ ซึ่งเมื่อมีการเจรจา ก็ควรเจรจาในหลายประเทศ ดังนั้น เรื่องนี้ต้องถามทางภาครัฐว่า จะมียุทธศาสตร์ในการเจรจาเรื่องนี้อย่างไร คือ หนึ่ง อาจคุยตั้งแต่เนิ่น ๆ และ สอง เจรจาใกล้สำเร็จแล้ว โดยสิ่งสำคัญต้องเจรจาหลากหลายประเทศที่แตกต่างกันไป เพราะเรามีประสบการณ์ในการเจรจาอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น อย่ากลัวการเจรจา”
ด้าน นายกลินท์ สารสิน กล่าวว่า “ที่ผ่านมาภาคเอกชน ก็ช่วยประสานหาเครื่องมือแพทย์ในการรับมือโรคระบาด ล่าสุดเจรจากับต่างประเทศ ที่จะทานเฟอร์เทคโนโลยีด้านวัคซีนหากประเทศใดสามารถผลิตได้ก่อน เพื่อให้คนไทยได้ใช้วัคซีนเร็วที่สุด ขณะเดียวกัน หลังจากปิดประเทศทำให้เห็นความจำเป็นของอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ควรพัฒนา และมีโอกาสเติบโต คือ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยาและการแพทย์ แต่วิกฤตตอนนี้คือมีคนตกงานจำนวนมาก”
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ให้ข้อสังเกตและข้อเสนอเชิงนโยบายสามข้อ ข้อแรก คือ ต้องเปิดประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้คนมีงานทำ โดยอยู่บนหลักการสามอย่างคือ หนึ่ง เลิกตั้งเป้าหมายผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ ในประเทศ แต่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำควรมีกี่รายที่รับได้ สอง ต้องเปิดประเทศอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและเข้มงวดในเงื่อนไขไม่มีข้อยกเว้น สาม เปิดให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาผู้ที่กำหนดทิศทางเป็นรัฐและภาคเอกชน ข้อเสนอเชิงนโยบาย ข้อที่สอง การกระตุ้นให้ประชาชนในประเทศรักษาระดับการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด ทั้งการใส่หน้ากากผ้า ล้างมือบ่อย ๆ และเว้นระยะห่างทางสังคม รวมทั้งใช้แอปพลิเคชันไทยชนะมากที่สุด และ ข้อเสนอเชิงนโยบาย ข้อที่สาม ต้องพัฒนาระบบการเยียวยาเศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว และใช้โอกาสนี้ในการลดความเหลื่อมล้ำสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง”
หลังจบการเสวนา ไทยพีบีเอส ยังคงทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง เพราะสิ่งที่ได้จากการสนทนาแลกเปลี่ยนและร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางต่าง ๆ ครั้งนี้ ไทยพีบีเอส จะนำไปกำหนดวาระข่าวสารเพื่อสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ต่อไป