สสส.หนุนออกแบบที่ทำงานให้มีความเป็นมิตรต่อครอบครัว เอื้อให้เกิดเวลาคุณภาพ ปัจจัยเพิ่มสุข “ครอบครัวอบอุ่น” สร้างสุขภาวะที่ดีในที่ทำงาน นักวิชาการระบุ แนวโน้มโลกวิถีใหม่ ออฟฟิศต้องปรับตัว คนรุ่นใหม่ทำงานได้ทุกที่ ตัวชี้วัดไม่ใช่ชั่วโมงทำงาน แต่อยู่ที่ความรับผิดชอบและผลงาน
เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2563 ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักพิมพ์ bookscape จัดเสวนาสาธารณะ ‘ศาสตร์และศิลป์แห่งการสร้างที่ทำงานชั้นยอด” และ”ถอดรหัสสุดยอดที่ทำงาน: กูเกิล - ดีแทค - ศรีจันทร์" ภายใต้โครงการขับเคลื่อนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัว และการพัฒนาศักยภาพเยาวชน โดยมีบริษัทชั้นนำในประเทศไทยเข้าร่วม ได้แก่ บริษัทกูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ME by TMB Digital Banking ในเครือธนาคารทหารไทย และบริษัทศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า ในปี 2563 สสส. ได้เริ่มดำเนินการศึกษาบทเรียนที่ดีของหน่วยงานที่มีความเป็นมิตรต่อครอบครัว (Family Friendly Workplace) จำนวน 17 องค์กร ครอบคลุมตั้งแต่บริษัทขนาดเล็กที่ไม่มีอาคารสำนักงาและบริษัทขนาดใหญ่มีพนักงานกว่า 3 หมื่นคน พบจุดที่เหมือนกันคือ ความใส่ใจในชีวิตครอบครัวของพนักงาน/ลูกจ้าง โดยมีนโยบายหรือมาตรการที่ชัดเจน มีกลไกการดำเนินงานและการติดตามวัดผล ตลอดจนการมีส่วนร่วมของพนักงานเอง องค์กรทั้งหมดมีนโยบายดูแลพนักงานเกินกว่าที่กฎหมายด้านแรงงานกำหนด เช่น นโยบายการลาดูแลภรรยาที่คลอดบุตรซึ่งกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานราชการต้องดำเนินการ แต่ปัจจุบันหน่วยงานเอกชนหลายแห่งก็ทำนโยบายเช่นเดียวกัน รวมถึงสวัสดิการดูแลสมาชิกในครอบครัวพนักงาน เช่น ศูนย์ดูแลเด็ก ค่าเล่าเรียนและค่ารักษาพยาบาลบุตรจนอายุถึง 20 ปี การจัดรถรับส่งนักเรียนลูกๆ ของพนักงาน หรือแม้แต่ในช่วงเวลาทำงานก็อนุญาตให้ออกกำลังกายในห้องกีฬา จัดให้มีห้องพักผ่อนเพื่อให้หลับกลางวันที่เรียกว่า power nap ซึ่งมีผลการศึกษามากมายยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างสุขภาวะที่ดีแก่พนักงาน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วย บางบริษัทก้าวล้ำถึงขั้นให้พนักงานลาออกชั่วคราวเพื่อไปดูและพ่อแม่ที่ป่วยหนัก บางแห่งมีอุปกรณ์ให้ยืมใช้ เช่น เตียงไฟฟ้าสำหรับผู้ป่วย ฝ่ายบริหารบุคคลขององค์กรเหล่านี้ต่างยืนยันว่านี่คือเคล็ดลับที่ทำให้คนทำงานมีความรักความผูกพันต่อองค์กร ลดปัญหาขาดลามาสาย ลดปัญหาพนักงานลาออกบ่อยๆ กุญแจสำคัญคือการออกแบบนโยบายองค์กรที่ไม่กดดันให้พนักงานต้องเลือกว่างานหรือครอบครัวมาก่อน ซึ่งองค์กรทั้ง 17 แห่ง ที่พบในการศึกษาได้ช่วยตอกย้ำให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะเกิด “ที่(น่า)ทำงาน” ในสังคมไทย
“คนวัยแรงงานต้องอยู่ในที่ทำงาน วันละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง ถ้านับเวลาเดินทางก็อาจจะมากกว่าสิบชั่วโมงต่อวัน เวลาคุณภาพที่จะมีให้สมาชิกในครอบครัวจึงย่อมลดน้อยลง แต่ถ้าหาก 8-10 ชั่วโมงนั้นเป็นเวลาทำงานที่มีสมดุลกับการดูแลสุขภาวะพนักงาน โรคฮิตอย่างออฟฟิศซินโดรมน่าจะลดน้อยลง การงีบกลางวัน 15 นาที ตื่นมาแล้วสมองปลอดโปร่ง ทำงานได้ดีและไม่เครียด ผลที่ได้ทำให้ผลงานออกมาดีขึ้น การหยุด ลา มาสาย ลดลง ลาออกต่ำลง ความกระตือรือล้นในการพัฒนางานมากขึ้น ที่สำคัญหากสามารถจัดสมดุลของชีวิตในแต่วันได้ ไม่ว่าจะเป็น work-life balance หรือ work-life integration (การประสานงานและชีวิตส่วนตัวเข้าด้วยกัน) จะช่วยให้สามารถจัดสรรเวลาคุณภาพให้ครอบครัว ซึ่งบทบาทของสถานที่ทำงานมีความสำคัญในแง่ของการช่วยสร้างเงื่อนไขการใช้ชีวิตให้ลูกจ้างสามารถทำหน้าที่ต่อครอบครัวไม่ว่าจะเป็นลูกๆหรือพ่อแม่ที่เข้าสู่วัยชรา สสส.อยากเห็นว่าเมื่อรัฐมีนโยบายสนับสนุนครอบครัวเข้มแข็งอบอุ่นก็ควรสนับสนุนให้หน่วยงาน/สถานประกอบการช่วยสร้างเงื่อนไขการทำงานที่เอื้ออำนวยต่อการทำบทบาทหน้าที่ของคนทำงานในฐานะผู้ดูแลครอบครัวด้วย” นางสาวณัฐยา กล่าว
รศ.ดร.พิภพ อุดร อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และอดีตผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในยุคหลังการระบาดของโควิด-19 ที่เราเรียกว่า NEW NORMAL คำว่าที่ทำงานหรือออฟฟิศจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ ที่ทำงานไม่จำเป็นต้องเป็นออฟฟิศ ทุกที่สามารถเป็นที่ทำงานได้ ทุกตำแหน่งสามารถทำงานที่ใดก็ได้ บริษัทจะมีพื้นที่เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีห้องทำงานของฝ่ายต่างๆ อีกต่อไป ดัชนีชี้วัดการทำงานจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับชั่วโมงการทำงาน แต่จะขึ้นอยู่กับผลของงาน ขณะที่องค์กรจะต้องปรับตัวมีระบบความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูลทำงานที่ดีเพื่อไม่ให้สิ่งที่เป็นความลับเผยแพร่ออกไปสู่ภายนอก ซึ่งหากองค์กรไม่ปรับตัวจะทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง ไม่สร้างแรงจูงใจให้คนมาทำงานด้วย และสุดท้ายองค์กรอาจไปไม่รอด ส่วนเด็กรุ่นใหม่จะทำงานเป็นแบบสัญญาจ้างมากขึ้น ทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หรือร้านกาแฟ ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถทำงานอื่นๆ ได้ในเวลาเดียวกัน และเงินเดือนอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นแรงจูงใจเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต ดังนั้นความหมายของการจ้างงานในอนาคต คือ การทำงานด้วยความรับผิดชอบให้ได้ตามเป้าหมายที่บริษัทวางไว้
นางสาวนาฏฤดี อาจหาญวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) กล่าวว่า องค์การต้องเริ่มจากการทำให้พนักงานมีความสุขเพื่อเป็นกำไรต่อเนื่องไปถึงครอบครัว โดยให้สิทธิสวัสดิการ การยืดหยุ่นในการทำงาน เช่น ไม่ให้ความสำคัญกับเวลาเข้าออกที่ทำงาน แต่ไม่ละเลยเป้าหมายและผลลัพธ์ความสำเร็จของงาน การให้สิทธิผู้หญิงสามารถสร้างครอบครัว และมีบุตร โดยไม่ต้องกังวล ว่าคนที่มีครอบครัว หรือมีลูกจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง เราคำนึงถึงเรื่องนี้มาก ดังนั้น พนักงานหญิงที่นี่สามารถลาคลอดได้ 6 เดือน โดยให้เงินเดือนครบทุกเดือน มีห้องนมแม่ที่มีอุปกรณ์พร้อม ศูนย์เด็กเล็ก และสนับสนุนให้สามารถสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน มีครอบครัวที่มีคุณภาพ พร้อมทำงานอย่างมีความสุข