ที่ปรึกษา รมว.สธ. เยี่ยมให้กำลังใจกลุ่มเกษตรปลอดภัย อบต.คลองนกกระทุง ขับเคลื่อนสุขภาพดี ผ่าน กปท. หนุนตรวจคัดกรองสารเคมีตกค้างในเลือด ลดการใช้สารเคมีภาคการเกษตรในพื้นที่
ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงาน “โครงการป้องกันควบคุมโรคจากสารเคมีในเลือดกับผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม” ภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลคลองนกกระทุง” (กปท.คลองนกกระทุง) อ.บางเลน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และล้างผักลดสารปนเปื้อน
ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมรณรงค์กับท้องถิ่นและ สปสช. ผลักดันให้ผลผลิตทางการเกษตรและอาหารแปรรูปมีความปลอดภัยให้ไทยพร้อม เป็นครัวของโลก โดยผ่านกลไกการสนับสนุนระดับจังหวัด บูรณาการกับท้องถิ่น โดยมี กองทุนตำบลของ สปสช. ที่มีอยู่ทุกพื้นที่ กว่า 7,738 แห่ง ร่วมสนับสนุนงบประมาณจากผลการสุ่มตรวจเมื่อปี 2558 มีผู้ที่ปลอดภัยจากสารเคมีที่ตกค้างในเลือดเพียง 5 %แตกต่างชัดเจน กับปัจจุบัน คือ มีผู้ที่ปลอดภัยจากสารเคมีในเลือดมากกว่า 50 %
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า “กองทุน อบต.คลองนกกระทุง เป็นกองทุนตำบลหนึ่งที่เข้าร่วมดำเนินการมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่ สปสช. เริ่มกองทุนตำบลมาตั้งแต่ ปี 2549 ซึ่งเป็นความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จนถึงเข้าร่วมครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ มีจำนวน 7,738 แห่ง ครอบคลุมประชากร จำนวนกว่า 57 ล้านคน บอร์ด สปสช.จัดสรรงบประมาณให้ 45 บาทต่อประชากร เพื่อดำเนินการด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชนผ่านการบริหารงานจากทุกภาคส่วนร่วมกัน และมีการพัฒนาศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน หรือ หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระอื่น ตามมาตรา 50(5) เช่นที่ จังหวัดนครปฐมนี้ มีศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดนครปฐมให้ความรู้ มีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพ ตั้งแต่ปี 2549 และขอขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระอื่น ตามมาตรา 50(5) ในปี 2553 โดยได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
นายมานพ ศรีสุข นายก อบต.คลองนกกระทุง กล่าวว่า พื้นที่รับผิดชอบของ อบต.คลองนกกระทุง ประชากรส่วนใหญ่ มีอาชีพเกษตร อาชีพอื่นเพียง 4% มีพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำท่าจีนและลำคลองหลายสาย เดิมในพื้นที่เอง เกือบทั้งหมดทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ ใช้สารเคมี เร่งผลผลิต เพื่อหวังขาย แต่เกิดผลกระทบข้างเคียง มีสารพิษ สารเคมีตกค้างในพื้นที่ค่อนข้างมาก ต่อมาเริ่มมีกระแสเกษตรพอเพียง เครือข่ายเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้ทุกตำบลต้องมีศูนย์การเรียนรู้เกษตรปลอดภัยที่เป็นรูปธรรม จึงได้เริ่มมีการพัฒนาสนับสนุนโครงการมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ โดยมีเครือข่ายเกษตรคลองนกกระทุง เป็นหนึ่งที่สำคัญในการดูแลเกษตร ดูแลผู้บริโภคปลอดภัย บูรณาการโครงการมาร่วมกัน โดยการเริ่มตรวจเลือดในสารเคมีครั้งแรก โดยปี 2558 สุ่มตรวจประชากรจำนวน 100 ราย พบผู้ที่มีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัยถึง 95 ราย จึงได้ร่วมกันเร่งพัฒนารูปแบบการทำงาน ให้ความรู้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
นางนกน้อย ศรีนวลมาก ประธานกลุ่มเกษตรปลอดภัยคลองนกกระทุง และกรรมการกองทุน สปสช. กล่าวว่า ได้ให้ความรู้เรื่อง การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การเข้าถึงการรักษา การคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้สิทธิบัตรทอง และเป็นเครือข่ายการทำงานของเครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ เป็นกรรมการศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดนครปฐม และการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพต่างๆ ที่สำคัญ คือ ในปี 2558 ริเริ่มโครงการขอให้มีการตรวจสารเคมีในเลือดให้แก่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ในการสร้างความเข้าใจและลดความเสี่ยงจากพืชผักในพื้นที่ตำบล
ทพ.ญ.มนิธี ต่อเศวตพงศ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า “จากการสำรวจข้อมูลเกษตรกรของจังหวัดนครปฐม ในปี พ.ศ. 2562 พบว่าจังหวัดนครปฐม มีพื้นที่ในการปลูกข้าวทั้งจังหวัด จำนวน 241,708 ไร่ มีเกษตรกรที่ทำนา จำนวน 13,687 ครัวเรือน อำเภอบางเลน เป็นแหล่งที่มีการทำนา มากที่สุด จำนวน 142,836 ไร่ มีเกษตรกรที่มีอาชีพทำนา 7,075 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งการปลูกพืช ผัก ผลไม้ ที่มีคุณภาพ ได้มีการพัฒนาวิถีเกษตรปลอดภัย ที่พร้อมเป็นครัวโลก แหล่งอาหารปลอดภัยของภาคกลาง ที่มีการดำเนินการเชิงนโยบายตามแนวทางเกษตรพอเพียง โดยบูรณาการงานระดับจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขนครปฐม ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดนครปฐม กลุ่มเกษตรอินทรีย์ และเอกชนในพื้นที่ จัดให้มีการตรวจหาปริมาณสารเคมีที่ตกค้าง เพื่อหวังกระตุ้นให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมี ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการผลิตและบริโภคอย่างปลอดภัย
ผลการตรวจหาปริมาณสารเคมีทางการเกษตรตกค้างในเลือดเกษตรกรของจังหวัดนครปฐม ประจำปี 2562 จำนวน 1,687 ราย พบมีผลปกติ 255 ราย(15.11 %) ปลอดภัย 479 ราย(28.39 %) เสี่ยง 592 ราย(35.09 %) และไม่ปลอดภัย 361 ราย(21.39 %) รวมทั้ง มีแนวทางให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร โดย ร่วมกันรณรงค์ภายใต้นโยบายอาหารปลอดภัย เพื่อให้ผู้บริโภคมีความรู้ในการเลือกซื้อผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรทำการเกษตรที่ปลอดภัย ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งจังหวัด พร้อมกับชูให้แต่ละตำบลที่ดำเนินการเกษตรปลอดภัย เป็นหนึ่งในศูนย์การเรียนรู้ของกองทุนระดับตำบลด้วย