สสส. เผยผลวิจัยพบ "นิทานจ๊ะเอ๋ ฉบับยาวี-ไทย" สร้างพัฒนาการเด็กระดับมาก สัมพันธภาพครอบครัวระดับมากที่สุด เพิ่มพฤติกรรมเชิงบวกพ่อแม่ ไม่เล่นจ๊ะเอ๋-ไม่กอด-ไม่บอกรักลูกเป็น 0 เดินหน้ากระตุ้นสังคมเห็นความสำคัญพัฒนาการเด็ก ผุดนิทานอ่าน อาน อ๊าน หลังพบเด็กไทยพัฒนาการช้า 30%
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ช่วงอายุปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบ ถือเป็นเวลาทองในการส่งเสริมพัฒนาการของมนุษย์ ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 30 มีพัฒนาการล่าช้า ส่งผลต่อระดับสติปัญญาและการเรียนรู้ สาเหตุจากการเลี้ยงดูที่ไม่ได้กระตุ้นพัฒนาการ ดังนั้น สสส. ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย ดำเนินโครงการสิ่งเล็ก ๆ ที่สร้างลูกขึ้นเมื่อปี 2561 มีวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของพัฒนาการเด็ก จัดทำสื่อในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ นิทานจ๊ะเอ๋ แอพพลิเคชั่นคุณลูก เว็บไซต์คุณลูก ซึ่งในปีที่ผ่านมานิทานจ๊ะเอ๋มีการจัดทำเป็นภาษายาวี เพื่อใช้ในพื้นที่จังหวัดสามชายแดนภาคใต้ พบว่า ครอบครัวที่ร่วมโครงการมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จากที่ไม่เคยเล่นจ๊ะเอ๋กับลูก ไม่เคยกอดและไม่เคยบอกรักลูกก็สามารถทำได้ดีขึ้น นอกจากนี้ สสส. ยังได้พัฒนาเครื่องมือตัวใหม่เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กเล็ก เรียกว่านิทานส่งเสริมการอ่านแบบไล่ระดับ หรือ Leveled Book ในชื่อชุดหนังสือนิทาน อ่าน อาน อ๊าน จำนวน 30 เล่ม แต่ละเล่มจะเหมาะกับเด็กแต่ละวัยไล่เรียงตามอายุ ซึ่งเป็นการส่งเสริมพัฒนาการสมวัยของเด็ก
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า จากการสำรวจ เรื่องผลของการใช้หนังสือนิทานจ๊ะเอ๋ (ฉบับยาวี-ไทย) ที่มีต่อพัฒนาการของบุตรก่อนวัยเรียนและความสัมพันธ์ในครอบครัวตามบริบทสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้เข้าร่วมโครงการแม่รุ่นใหม่จาก 9 ตำบล ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จำนวน 250 คน พบว่า ผู้ใช้หนังสือนิทานจ๊ะเอ๋เป็นเพศหญิง ร้อยละ 95.6 โดยเป็นแม่ ร้อยละ 82.4 มีอายุระหว่าง 30-39 ปี ร้อยละ 41.5 มีจำนวนบุตร 3 คน ร้อยละ 28.8 มีบุตร 2 คน ร้อยละ 24.9 และมีบุตร 1 คน ร้อยละ 21.5 ส่วนใหญ่บุตรมีอายุระหว่าง 3-4 ปี ร้อยละ 39.5 และอายุ 1-2 ปี ร้อยละ 30.2
นางสุดใจ กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่ใช้เวลาในการอ่านหนังสือนิทานในช่วงค่ำก่อนนอนหรือหลังเสร็จกิจกรรมต่าง ๆ ร้อยละ 44.9 สาเหตุสำคัญของการใช้ พบว่า หนังสือออกแบบได้น่าอ่าน รูปภาพสวยงามและน่าสนใจ ร้อยละ 56.1 หนังสือมีการแปลเป็นภาษายาวี ร้อยละ 39.5 หนังสือสอนวิธีการเล่นและดูแลลูกที่ถูกต้อง ร้อยละ 31.7 % และเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ร้อยละ 30.2 ส่วนการประเมินผู้ปกครองหลังจากได้รับหนังสือนิทานจ๊ะเอ๋ พบว่า ในเรื่องการเล่นจ๊ะเอ๋กับลูก หลังจากได้รับหนังสือนิทานจ๊ะเอ๋ มีการเล่นจ๊ะเอ๋กับรูปเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่เล่นจ๊ะเอ๋กับลูกทุกวัน ร้อยละ 61 เล่นจ๊ะเอ๋กับลูกบางครั้ง ร้อยละ 39 ไม่มีผู้ปกครองท่านใดที่ไม่เล่นกับลูก ในเรื่องกิจกรรมการกอดลูก หลังจากได้รับหนังสือนิทานจ๊ะเอ๋ มีการกอดลูกทุกวัน ร้อยละ 80.5 และไม่มีผู้ปกครองท่านใดไม่กอดลูก และในเรื่องการบอกรักลูก พบว่า มีการบอกรักลูกเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่บอกรักทุกวัน ร้อยละ 76.1 และไม่มีผู้ปกครองท่านใดที่ไม่บอกรักลูกหลังจากได้รับหนังสือ
“ภาพรวมการใช้หนังสือนิทานจ๊ะเอ๋ มีผลต่อพัฒนาการลูกอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับตามระดับคะแนนสูงสุด 3 อันดับ คือ 1.เมื่อฉันกอดหรือเล่นกับลูกเขาจะสดใสและมีความสุข 2.ลูกของฉันอารมณ์ดีและมีนิสัยร่าเริง และ 3.เมื่อฉันคุยกับลูกเขาสามารถจ้องตาและมองหน้าฉันได้นาน ในส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับผลจากการใช้หนังสือนิทานจ๊ะเอ๋มีต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวอยู่ในระดับมากที่สุด โดยสามารถเรียงลำดับตามระดับคะแนนสูงสุด 3 อันดับ คือ 1.หนังสือช่วยฉันใช้เวลากับลูกมากยิ่งขึ้น 2.หนังสือช่วยฉันมีความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกที่ถูกต้อง และ 3.หนังสือช่วยให้ฉันต้องการพัฒนาตนเองด้านการดูแลลูก” นางสุดใจ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สนใจนิทานสามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1B3AnrA_I35uOvoJPyOnb9J_mOPaLqnKj/view