สสส. ชูโปรเจคท์ ‘พลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤติ’ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 แนะต้นแบบโมเดล ‘ตามสั่ง ตามส่ง’ ‘ตุ๊กตุ๊กเชียงใหม่’ สร้างชีวิตวิถีใหม่ชุมชน วิธีนั่ง-ยืน-รอ ป้องกันความเสี่ยงเมื่อใช้รถสาธารณะ
นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประชาชนต้องปรับตัวค่อนข้างมาก สสส.จึงเปิดรับข้อเสนอโครงการภายใต้ชุดโครงการ “พลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤติ : Citizen Resilience Project” นำเสนอไอเดียสร้างสรรค์ช่วยกันฝ่าวิกฤติโควิด-19 โดยมีโครงการที่ได้รับการสนับสนุน 55 โครงการ แบ่งออกเป็น 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ 1.COVID – 19 Literacy’ สร้างการเข้าถึงข้อมูล อาทิ คลิปโควิดภาษาชาติพันธุ์ พอดแคสต์ภาษาคำเมือง เกมรับมือโควิด 2.Metal Health Relief กิจกรรมบำบัดปัญหาทางสุขภาพจิตทางออนไลน์ 3.High-Risk Support อาทิ การสร้างแอปพลิเคชันเพื่อให้ข้อมูลวิธีการปฏิบัติของหญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ก่อนคลอดและหลังคลอด ห้องเรียนครอบครัวพร้อมเผชิญเหตุในภาวะวิกฤต 4.Social Distancing อาทิ แพลตฟอร์ม ‘ตามสั่ง ตามส่ง’ การรักษาระยะห่างทางสังคม ‘คุณปลอดภัย บ้านปลอดภัย ’ในระบบขนส่งสาธารณะ และ 5.New Normal อาทิ ตุ๊กตุ๊กเชียงใหม่ รอดโควิดไปด้วยกัน “สวนแบ่งปัน”: การปรับตัวคนจนเมืองท่ามกลางวิกฤติโควิด-19
นายอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ ผู้รับผิดชอบโครงการ ตามสั่ง ตามส่ง กล่าวว่า โครงการตามสั่ง-ตามส่งเป็นโครงการสร้างช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง หรือวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และผู้ค้าขายอาหาร ที่ได้รับความเดือดร้อนจากช่วงวิกฤคโควิด-19 โดยสร้างแพลตฟอร์มผ่านช่องทาง บัญชีไลน์ออฟฟิเชียล @tamsang-tamsong เพื่อให้บริการรับสั่ง และส่งอาหาร ซอยลาดพร้าว 101 โดยค่าบริการเป็นธรรมต่อทั้งผู้บริโภค ผู้ค้าและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง สำหรับการบริหารงานระยะยาวจะให้วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ในชุมชนลาดพร้าว 101 เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหาร เกิดเป็นโครงการที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ในชุมชนโดยแท้จริง ควบคู่ไปกับช่องทางหลักเว็บไซต์ www.ตามสั่ง-ตามส่ง.com
นายวริทธิ์ธร สุขสบาย ผู้จัดการเพจ MayDay กล่าวว่า 1 ในความหนาแน่นจากประชาชนทำงานที่ออฟฟิศ และต้องรีบกลับบ้านให้ทันก่อนเคอร์ฟิว มีโอกาสสัมผัสพื้นผิวในระบบขนส่งสาธารณะทั้งในตัวรถและสถานี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการแพร่กระจายเชื้อไวรัส เมล์เดย์ ร่วมกับ สสส. รณรงค์ ‘คุณปลอดภัย บ้านปลอดภัย’ เพื่อรักษาระยะห่างทางกายภาพ ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ MayDay เสนอ 3 วิธีง่าย ๆ ในรูปแบบอินโฟกราฟิก ในการรักษาระยะห่างทางกายภาพ หรือ Physical Distancing ขณะใช้ขนส่งสาธารณะ 1.นั่ง ตามที่นั่งที่ผู้ให้บริการกำหนดไว้ 2.ยืน ตามจุดที่ผู้ให้บริการกำหนดไว้ 3.รอ รักษาระยะห่างขณะเข้าคิวเสมอ และร่วมกับ ขสมก. นำแผ่นป้ายรณรงค์เว้นระยะห่างติดบนที่นั่งรถโดยสารประจำทางสาย 62 เพื่อเป็นต้นแบบให้ขนส่งสาธารณะอื่น ๆ อีกด้วย
นายโสภณ ศุภมั่งมี ผู้รับผิดชอบโครงการ ตุ๊กตุ๊กเชียงใหม่ รอดโควิดไปด้วยกัน กล่าวว่า ร่วมกับ สสส. พัฒนารูปแบบการช่วยเหลือกันของคนท้องถิ่น จ.เชียงใหม่ ในกลุ่มคนขับรถตุ๊กตุ๊กที่ประสบปัญหายากลำบากจากการขาดรายได้ หลังจากที่ตลาดต้องปิดทำการไม่มีผู้ใช้บริการ ผ่านแพลตฟอร์ม Busy Rabbit ทำให้เกิดรถตุ๊กตุ๊กปรับตัวสร้างรายได้ในฐานะ “รถน้อยขนครัว” ทางเลือกสำหรับลูกค้าในการรับส่งของ ทั้งส่งอาหาร ส่งเอกสาร ไปจ่ายตลาด ต่อภาษี ไปธนาคาร ขนของย้ายบ้าน โดยไม่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากทางร้านค้า หรือหักค่าคอมมิชชั่นในการรับงานจากส่วนแบ่งรายได้ของคนขับ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการช่วยเหลือกันของคนในท้องถิ่นที่ต่างมองเห็นปัญหาซึ่งกันและกัน และปรับตัวเข้าหากัน เพื่อหาทางรอดและนำพาให้ทุกคนสามารถผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 ไปได้ด้วยกัน
ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดไอเดียสร้างสรรค์ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ทั้ง 55 ในโครงการ“พลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤติ : Citizen Resilience Project” ได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Citizen Resilience Project