สสส. ชูโมเดลเครือข่ายคนสามวัย กลไกโรงเรียนผู้สูงอายุ สร้างพื้นที่สุขภาวะ ลดเครียด สร้างชุมชนเข้มแข็งจัดการตนเอง ดูแลกลุ่มสูงวัยเปราะบาง “ติดบ้าน-ติดเตียง” ช่วยรอดพ้นภัยโควิด-19
เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2563 ที่ชุมชนทรัพย์สินใหม่ เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) พร้อมด้วยนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. เยี่ยมให้กำลังใจครอบครัวผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากขาดรายได้เหตุเพราะลูกหลานตกงานได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกัน พร้อมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ในชุมชน แนวทางการแก้ปัญหา และมอบชุดอุปกรณ์ป้องกันโควิด – 19 ให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
ทพ.ศิริเกียรติ กล่าวว่า สสส. ร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุทั้งเชิงนโยบาย วิชาการ และประสานการทำงานกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในพื้นที่ 11 ชุมชน ในเขตวังทองหลาง ห้วยขวาง ประกอบด้วย ชุมชนเทพลีลา ชุมชนทรัพย์สินใหม่ ชุมชนทรัพย์สินเก่า ชุมชนร่วมสามัคคี ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา ชุมชนเก้าพัฒนา ชุมชนน้อมเกล้า ชุมชนคลองพลับพลา ชุมชนหมู่บ้านพลับพลา ชุมชนบึงพระราม 9 พัฒนา และชุมชนบึงพระราม 9 (บ่อ 3) ซึ่งมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลผู้สูงอายุในชุมชน ตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ มีกิจกรรมเพื่อรองรับผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม ติดบ้าน ติดเตียง จนนำมาสู่การจัดตั้งเครือข่ายผู้สูงอายุ 11 ชุมชน และการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุในพื้นที่ ซึ่งนับเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งแรกในกรุงเทพมหานครที่จัดตั้งและดำเนินการเองโดยภาคประชาชน
“สสส.ส่งเสริมให้แกนนำและประชาชนใน 11 ชุมชน สร้างกลไกขับเคลื่อนสุขภาวะในพื้นที่ เกิด 1) ชมรมผู้สูงอายุ 11 ชุมชน และ 2) เครือข่ายคนสามวัย เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ทั้งสองกลไก ได้ร่วมกันระดมทรัพยากรเครื่องอุปโภคและบริโภคให้กับชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง และเครื่องอุปโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน รวมถึงเยียวยาช่วยเหลือประชากรกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ 11 ชุมชน โดยประสานแกนนำ/ผู้นำชุมชนสำรวจข้อมูลทั้งเชิงประมาณและคุณภาพของกลุ่มเปราะบางในแต่ละชุมชน พร้อมทั้งประสานหน่วยงานและจัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อนำเครื่องอุปโภคบริโภคมาเยียวให้กับกลุ่มเปราะบาง ทำให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันสสส.ก็หนุนเสริมให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน ระยะฟื้นฟู โดยร่วมกันสร้างกิจกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการขั้นพื้นฐานและการเรียนรู้ที่จะอยู่ต่อไปในสถานการณ์ที่เชื้อโควิด-19 ยังไม่ได้หมดไป เช่น การพึ่งตนเองทางด้านความมั่นคงทางอาหาร จัดกระบวนการสร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ (Health Literacy) และ กิจกรรมส่งเสริมจิตอาสาช่วยเหลือกันในชุมชนผ่านรูปแบบธนาคารเวลาเพื่อคนทุกเพศวัย”ทพ.ศิริเกียรติ กล่าว
ทพ.ศิริเกียรติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สสส.ได้บูรณาการการทำงาน 3 แผนงานของสสส. คือ แผนสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ แผนสร้างเสริมสุขภาพจิต และแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย งานพื้นที่สุขภาวะ โดยการดำเนินการของสถาบันอรุณ อิน สยาม เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการตนเองได้ โดยสร้างแกนนำคน 3 วัย ในชุมชนเพื่อพัฒนาพื้นที่สุขภาวะส่งเสริมให้เพิ่มกิจกรรมทางกายในรูปแบบต่าง ๆ การทำแปลงผักปลอดสารพิษ จัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพของชุมชนให้เอื้อต่อการมีสุขภาวะและสุขาภิบาลที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังสนับสนุนพัฒนาศักยภาพผู้นำและกลไกการสร้างเสริมสุขภาพจิตกลุ่มแรงงาน “การสร้างสุข ลดทุกข์” ดำเนินการโดยสมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พัฒนาศักยภาพผู้นำเพื่อเป็นอาสาสร้างสุขและหมอสุขชุมชน เพื่อทำให้ประชากรวัยแรงงานในชุมชนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสร้างสุขลดทุกข์ ลดความเครียด เกิดการสร้างสมดุลในชีวิตครอบครัวและงาน
สำหรับพื้นที่ 11 ชุมชน ตั้งอยู่บนที่ดินของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในเขตวังทองหลาง และ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ มีประชากรทั้งสิ้น 14,654 คน 2,876 ครัวเรือน (ข้อมูลปี 2562) มีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 1,127 คน (ร้อยละ 7.7 ของประชากรทั้งหมด) คนพิการ 92 คน ผู้ป่วยติดเตียง 59 คน ประชากรที่ได้รับผลกระทบต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 168 คน แยกเป็น ชาย 67 คน หญิง 101 คน ส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ ได้แก่ ผู้สูงอายุที่มีโรคประจําตัว ผู้ป่วยติดเตียง และคนพิการ