สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) พัฒนางานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาแบบจำลองปอดโดยแบบจำลองการเลี้ยงเซลล์สามมิติเพื่อการทดสอบยาในการรักษาโรคโควิด-19” เพื่อพัฒนาต้นแบบทดสอบยาที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 และรูปแบบการรักษาอาการปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 ตลอดจนเพื่อเพิ่มโอกาสที่จะนำยาหรือสารที่ยับยั้งการติดเชื้อที่ปอด มาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลกที่กำลังเผชิญกันอยู่ ถือเป็นความท้าทายของวงการวิจัย เพราะเป็นโจทย์ใหม่ที่ยังไม่มีคำตอบว่าจะใช้ยาอะไรรักษา และยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค หรือแม้แต่การควบคุมการระบาดของโรคยังต้องวางแผนและประเมินผลเป็นระยะจากข้อมูลเชิงประจักษ์รอบด้าน และแม้สถานการณ์เหมือนมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะสามารถควบคุมการระบาดได้อย่างถาวร และปัจจุบันยังไม่มียาตัวใดยืนยันได้ชัดเจนว่ามีประสิทธิผลสูงในการรักษาโรค ซึ่งยาหลายชนิดที่ใช้รักษาขณะนี้ เป็นยารักษาโรคอื่นที่มีอยู่แล้ว เช่น ยาในกลุ่มต้านไวรัสที่ใช้รักษาโรคเอดส์ โรคเมอร์ส ซาร์ส ซึ่งเป็นไวรัสที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับโควิด-19 และการพัฒนาวัคซีนที่เป็นความร่วมมือวิจัยในระดับโลก หรือการใช้น้ำเลือดที่มีภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยที่หายแล้ว เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าการวิจัยเพื่อการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 ยังมีโจทย์ให้วิจัยอีกมาก และการวิจัยพัฒนาแบบจำลองปอดเพื่อทดสอบการออกฤทธิ์ของยาต่อการยับยั้งการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ สวรส. จะร่วมมือกับทีมวิจัยจากสถาบันโรคทรวงอกในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่มีเป้าหมายชัดเจนที่จะเร่งดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดจนเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 โดยคาดว่าจะเห็นผลจากงานวิจัยภายใน 6 เดือนหลังจากนี้
ด้าน นพ.เขตต์ ศรีประทักษ์ สถาบันโรคทรวงอก หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ให้ข้อมูลงานวิจัยเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีความรุนแรงมากขึ้น การพัฒนายาต้านไวรัสจึงเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว ซึ่งการสร้างแบบจำลองปอดเสมือนจริงเพื่อจำลองการแสดงออกของโปรตีนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนายาต้านไวรัส เนื่องจากไวรัสโควิด-19 อาศัยโปรตีนชนิดหนึ่งที่สำคัญเป็นตัวรับเป้าหมายชนิด ACE2 ในการเข้าสู่เซลล์ ซึ่งพบมากในเซลล์ปอด และเซลล์อื่นๆ ในอวัยวะสำคัญ รวมไปถึงการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มักเกิดจากอาการปอดอักเสบรุนแรง เป็นต้น ดังนั้นงานวิจัยการพัฒนาแบบจำลองปอดโดยแบบจำลองการเลี้ยงเซลล์สามมิติเพื่อการทดสอบยาในการรักษาโรคโควิด-19 จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เป็นโครงการต้นแบบที่จะทดสอบยาที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 โดยยาที่เราจะใช้ทดสอบจะมีคุณสมบัติลดการออกฤทธิ์กระตุ้นการอักเสบที่ปอด รวมถึงสารที่เข้าไปแย่งจับกับเชื้อ SARS - COV2 เพื่อลดโอกาสการผ่านของเชื้อ SARS - COV2 เข้าสู่เซลล์ปอด โดยได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงที่ปรึกษาจากสถาบัน Chinese academy of sciences ซึ่งแบบจำลองการเลี้ยงเซลล์แบบสามมิติในลักษณะนี้ สามารถจำลองรูปแบบการแสดงออกของโปรตีน รวมถึงสภาวะต่างๆ ที่คล้ายกับปอดมนุษย์มากที่สุด รวมถึงเป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็ว ทั้งนี้คำตอบของงานวิจัยก็จะเป็นกุญแจสำคัญในการไขรหัสการศึกษาทางคลินิกในระยะต่อไป เพื่อช่วยพัฒนารูปแบบการรักษาอาการปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 และเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะนำยาหรือสารที่ยับยั้งการติดเชื้อที่ปอด มาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ตลอดจนช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ด้วย