สปสช.จับมือคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำร่องตรวจคัดกรองเชิงรุกกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ในสถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี หวังเป็นโมเดลสกัดการแพร่ระบาดในเรือนจำ ชี้ หากได้ผลดีเตรียมขยายระบบตรวจในกลุ่มเสี่ยงอื่นๆต่อไป
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงพื้นที่คัดกรองกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ณ สถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2563 โดยมีนางรัศมี สุวรรณหงษ์ ผู้อำนวยการสถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี พาเยี่ยมชมและตรวจคัดกรอง โดยมีผู้ต้องขังเข้ารับการตรวจคัดกรองจำนวน 175 คน และเจ้าหน้าที่อีก 53 คน
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การตรวจคัดกรองครั้งนี้ เป็นการนำร่องคัดกรองโควิด-19 เชิงรุก (Active Case Finding) ในกลุ่มผู้ต้องขังซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงตามประกาศฉบับใหม่ของกรมควบคุมโรค โดยจากเดิมที่เรือนจำทั่วประเทศใช้หลักการเดียวกันคือถ้ามีผู้ต้องขังเข้ามาใหม่จะกักตัว 14 วัน เมื่อไม่มีอาการจึงจะปล่อยเข้าไปรวมกับกลุ่มใหญ่ แต่ใน 14 วันนี้ อาจมีคนที่มีเชื้ออาจยังไม่แสดงอาการ หากปล่อยไปรวมกลุ่มใหญ่แล้วเกิดมีอาการขึ้นมาก็จะเกิดความเสียหายอย่างมาก แต่การค้นหาในเชิงรุกจะมีการตรวจคัดกรองว่าผู้ต้องขังที่เข้ามาใหม่มีผลตรวจเชื้อเป็นบวกหรือลบ ถ้าได้ผลลบเรือนจำก็สบายใจ สามารถกักตัวต่อจนครบ 14 วันแล้วปล่อยเข้ารวมกับผู้ต้องขังกลุ่มใหญ่ได้ แต่หากเจอผลบวกก็จะได้แยกตัวไปเข้าสู่กระบวนการรักษา
"นี่เป็นวิธีค้นหาเคสให้ไว ถ้าเจอก็พาไปรักษา ไม่ทำให้เกิดการระบาด ซึ่งตอนนี้เราทดลองตรวจคัดกรองเชิงรุกที่สถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานีก่อน โดยรับความร่วมมือจากคณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล มาคัดกรองให้ ในเชิงระบบเราจะขยายไปทำในกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ที่เป็นกลุ่มเปราะบางต่อไป" ทพ.อรรถพร กล่าว
ด้าน ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นกระบวนการคัดกรองเชิงรุกครั้งแรกๆ ของไทยในกลุ่มเสี่ยงที่มีข้อจำกัดอยู่ในพื้นที่คุมขัง ซึ่งปกติแล้วคนกลุ่มนี้เข้าถึงบริการสุขภาพได้ยาก การเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังไปที่โรงพยาบาลก็ทำได้ยาก การทำกิจกรรมเชิงรุกลักษณะนี้เพื่อให้คนทุกกลุ่มได้มีโอกาสเข้าถึงการคัดกรองและป้องกันความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด โดยกระบวนการทางเทคนิคจะใช้เวลาตั้งแต่เก็บสิ่งส่งตรวจไปจนถึงออกผลตรวจไม่เกิน 24 ชั่วโมง ยกเว้นเป็นกลุ่มใหญ่ จะทยอยรายงานผลด้วยวาจาก่อน และถ้าเจอเคสที่ติดเชื้อก็จะชี้เป้าว่าต้องควบคุมพื้นที่ จำกัดขอบเขตการเข้าถึงในจุดไหนอย่างไร
ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสถานกักขังกลาง จะมีทั้งผู้ต้องขังระยะสั้น เช่น จะมีคนที่ถูกปล่อยตัววันพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ ซึ่งเมื่อปล่อยตัวไปแล้ว ทางเรือนจำจะส่งผลตรวจตามไปให้แก่ครอบครัวหรือชุมชน แต่ในส่วนผู้ต้องขังระยะกลาง ผลตรวจเหล่านี้ก็สามารถนำไปใช้ในเชิงป้องกันเฝ้าระวังการแพร่ระบาดในเรือนจำได้
ทั้งนี้ การดำเนินการในระยะต่อไป ทางคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประสานกับ สปสช.เพื่อตรวจคัดกรองเชิงรุกในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แต่จะเป็นคนละโมเดลกับสถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี เนื่องจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังระยะกลางและระยะยาว ดังนั้นเมื่อได้นำร่องไปแล้วก็จะได้เห็นโมเดลว่าการตรวจคัดกรองผู้ต้องขังทั้งระยะสั้น กลาง และยาว จะมีมาตรการจำกัดพื้นที่การควบคุมป้องกันอย่างไร และหากการดำเนินการทั้งประเทศ อาจต้องมีความร่วมมือจากภาครัฐในส่วนอื่นๆ เช่น เครือข่ายเทคนิคการแพทย์และห้องแล็บในจังหวัดต่างๆ เพื่อช่วยกันเข้าไปค้นหาในเรือนจำในพื้นที่นั้นๆ
ด้านนางรัศมี กล่าวว่า สถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี เป็นสถานที่กักกันผู้ต้องขังระยะสั้น ตั้งแต่หนึ่งวันไปจนถึง 2 ปี มีอัตราการหมุนเวียนของผู้ต้องขังสูง ดังนั้นมาตรการป้องกันจะต้องเข้มงวดและเข้มข้นมากกว่าที่อื่น โดยผู้ต้องขังที่เข้ามาใหม่จะต้องตรวจวัดอุณหภูมิ ใส่หน้ากากและต้องกักตัว 14 วันทุกคน สถานที่อาบน้ำ เตียงนอน ก็จะเว้นระยะห่าง
ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานีมีผู้ต้องขังทั้งหมด 175 คน แบ่งเป็น ชาวไทย 132 คน และชาวต่างประเทศ เช่น ซีเรีย กัมพูชา ลาว เวียดนาม สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เป็นต้น 43 คน โดยในส่วนของผู้ต้องขังที่มีระยะเวลากักขังไม่ถึง 14 วัน เมื่อปล่อยตัวไปแล้ว จะมีการรายงานข้อมูลแก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้รับช่วงดูแลต่อไปให้ครบ 14 วัน