กรมส่งเสริมการเกษตร เฝ้ารับเสด็จฯ กรมสมเด็จพระเทพฯทรงเป็นองค์ประธานเปิดอาคาร“เกษตรสิริสุข” แห่งที่ 4 ในพื้นที่ จ.เชียงราย พร้อมเดินหน้าสืบสาน ต่อยอดโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามแนวทางพระราชดำริ และดันเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้การทำการเกษตรสู่นักเรียนและชุมชนในอนาคต
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารมาอย่างต่อเนื่อง กรมส่งเสริมการเกษตรได้เปิดอาคาร “เกษตรสิริสุข” แห่งที่ 4 ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบำรุงที่112 ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โดยได้พระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จเป็นองค์ประธานพิธีเปิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา
สำหรับอาคารดังกล่าวกรมส่งเสริมการเกษตรได้สร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระองค์ท่านในวาระครบรอบ 50 ปี กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อใช้ในการจัดการผลผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปถนอมอาหารและดำเนินการโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เด็กนักเรียนได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยถูกหลักโภชนาการแล้วยัง
ยังส่งเสริมให้โรงเรียนมีแหล่งถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรให้กับนักเรียนที่เหมาะสมและสามารถจัดการผลผลิตทางการเกษตรของโรงเรียนและชุมชนอย่างเป็นระบบอีกด้วย
โดยกรมส่งเสริมการเกษตรมีเป้าหมายจัดสร้างอาคารเกษตรสิริสุขถวายทั่วประเทศจำนวน 5 แห่งและได้เสด็จเป็นประธานเปิดอาคารแล้วจำนวน 4 แห่งคือ 1)โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทุ่งสบายใจ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา 2)โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนการบินไทย อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว 3) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านย่านซื่อ อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 4) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบำรุงที่ 112 อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และ 5)โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหนองดู่ อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม
นายเข้มแข็ง กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบำรุง ที่ 112 ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัด เชียงราย มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 168 คน แยกเป็นชาย 93 คน หญิง 75 คน จำนวนครูทั้งหมด 12 คน เป็นครู ตชด. 8 คน ครูอัตราจ้าง 4 คน ปัจจุบันมีพื้นที่ จำนวน 10 ไร่พื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 2 ไร่ แยกเป็นปลูกพืชผัก จำนวน 1 ไร่ (ชะอม, ข่า, ตะไคร้, ผักบุ้ง, ผักกวางตุ้ง, คะน้า, ผักกาดเขียวปลี มะเขือยาว, แตงกวา, ฟักทอง, บวบ, ถั่วฝักยาว, ผักกาดขาว, กะหล่ำปลี, ผักชี, กวางตุ้งฮ่องเต้, ถั่วลันเตา, บล็อกโคลี่ และมะเขือเปราะ) ปลูกไม้ผล จำนวน 0.5 ไร่ (มะละกอ, กล้วย, ขนุน, ลิ้นจี่) การเพาะเห็ด จำนวน 500 ก้อน ขุดบ่อดินสำหรับเลี้ยงปลาน้ำจืด (ปลานิล ปลาดุก จำนวน 1 บ่อ) โรงเลี้ยงไก่ไข่แบบเปิด จำนวน 1 โรง โรงเลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบเปิด จำนวน 1 โรง โรงเลี้ยงสุกรแบบเปิด จำนวน 1 โรง ส่งเสริมการทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง จำนวน 2 กอง ส่งเสริมการทำน้ำหมักชีวภาพ การทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง การทำกับดักแมลง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่แปลงเกษตรเป็นพื้นที่ลาดชันตามแนวสันเขา ดินเป็นดินร่วนปนทราย จึงได้ดำเนินการก่อบล็อกทำขอบแปลงเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน นอกจากนี้ยังใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกปรับปรุงบำรุงดินก่อนการเพาะปลูก ด้านพืชได้ส่งเสริมให้ปลูกผักหมุนเวียนตามฤดูกาล ทั้งผักกินใบและผักเถาเครือ เช่น คะน้า ผักกาดขาว ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว ถั่วพู นอกจากนี้ยังปลูกไม้ผลบริเวณลาดเอียงรอบแปลงผัก ได้แก่ กล้วย ฝรั่ง ขนุน เป็นต้น ด้านประมง มีบ่อดินเลี้ยงปลาขนาด 20x25 เมตร เลี้ยงปลาดุกจำนวน 2,500 ตัว และปลานิล จำนวน 500 ตัว มีการผลิตอาหารธรรมชาติ โดยใช้มูลวัวหมักกับฟางข้าว เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าอาหาร ด้านปศุสัตว์ มีการเลี้ยงไก่ไข่ จำนวน 100 ตัว ไก่พื้นเมือง จำนวน 50 ตัวและสุกรจำนวน 6 ตัว นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้นักเรียนดำเนินกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อสร้างการเรียนรู้จากการลงมือทำจริงของนักเรียน
“สำหรับแนวทางการใช้ประโยชน์จากอาคาร “เกษตรสิริสุข” สำหรับโรงเรียนและชุมชน เป็นสถานที่สำหรับการจัดการผลผลิตที่ได้ของแปลงเกษตรในโรงเรียนเพื่อให้ได้ตามมาตรฐานและจัดส่งโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน รวมทั้งเป็นจุดเรียนรู้และฝึกปฏิบัติของนักเรียนในโรงเรียนได้จัดการผลผลิตเพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน และเป็นจุดศึกษาดูงานของชุมชนในด้านกระบวนการจัดการผลผลิต ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรจะเร่งส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนให้มีความเข้าใจ จนสามารถลงมือปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวันและต่อยอดสู่ชุมชนต่อไปในอนาคต” ” นายเข้มแข็ง กล่าว