แอมเนสตี้ ร่วมกับ จิรวัฒน์ เอื้อสังคมเศรษฐ์ และ ศักดิ์ดา แก้วบัวดี จัดนิทรรศการผู้ลี้ภัย "ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ"
6,500 คือตัวเลขของผู้ลี้ภัยในเมืองที่อาศัยบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่เราใช้ชีวิตร่วมกับพวกเขา แต่ไม่เคยเห็นพวกเขามีตัวตน ไม่ต่างจากการใช้ชีวิตในโลกคู่ขนาน ทั้งที่เราอาจเคยเดินสวนกันบนทางเท้าโดยไม่รู้ตัว
จิรวัฒน์ เอื้อสังคมเศรษฐ์ ศิลปินวิดีโอและภาพยนตร์ ตั้งคำถามกับภาวะ ‘มองไม่เห็น’ ที่เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยจนนำมาสู่การแสดงนิทรรศการ “ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ” ที่จะพาผู้เข้าชมงานไปพบอีกโลกหนึ่งที่ไม่ถูกมองเห็น ผ่านการใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (VR) และวัตถุเสมือน (AR)
จิรวัฒน์เริ่มต้นจากความสนใจในประเด็น ‘นักโทษทางความคิด’ เมื่อความคิดเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและลื่นไหลได้ แต่กลับมีความพยายามควบคุมจนทำให้คนเหล่านี้ต้องเดินทางออกจากประเทศตัวเอง เขาได้เจอกับผู้ที่ตกค้างอยู่ระหว่างทาง คือ ‘ผู้ลี้ภัยในเมือง’ ที่ส่วนใหญ่ตั้งใจเดินทางไปประเทศที่สาม แต่สุดท้ายกลับตกค้างอยู่ในสังคมไทยซ้ำยังถูกจับขังด้วยข้อหาที่น่าเศร้า ทั้งที่หลายคนมีบัตรประจำตัวผู้ลี้ภัยจาก UNHCR
จิรวัฒน์สนใจเรื่องความเป็นมนุษย์ของผู้ลี้ภัย เมื่อคนไทยเกิดมายาคติต่อคำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ จนไม่สามารถเข้าใจความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ถูกกดดันจากรัฐจนต้องหลบหนีได้ แล้วยังมีสาเหตุที่หลากหลายกว่าความเข้าใจทั่วไป ทั้งเรื่องความขัดแย้งจากอำนาจรัฐ การเมืองท้องถิ่น ศาสนา การต่อสู้ทางชนเผ่า
เขาเริ่มศึกษางานวิจัยเรื่องสิทธิและสถานภาพของผู้ลี้ภัยในเมือง แล้วลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ลี้ภัยจากชาติต่างๆ ซึ่งเขาพบว่าความหวังของผู้ลี้ภัยคือ ‘การมีชีวิตแบบมนุษย์คนหนึ่ง’
“ผู้ลี้ภัยไม่ได้ต่างจากเราเลยในแง่ความรู้สึกของการเป็นมนุษย์หนึ่งคน ทั้งความสุขและความเศร้าต่างๆ ตอนแรกผมอาจตั้งความหวังไว้อีกแบบ แต่พอเจอกันแล้วสิ่งที่ผลักดันให้ผมทำงานต่อคือความเป็นปกติของเขา ไม่ใช่ความเป็นอื่นที่เรามักจะมองคนที่แตกต่างจากเราและคิดว่าเขาจะต้องมีชีวิตที่ไม่เหมือนเรา เขาเป็นคนเหมือนเรา”
จิรวัฒน์มองเห็นความหวังและความรู้สึกในเรื่องเล่าของผู้ลี้ภัยแต่ละคน ทั้งชาวเวียดนามที่ต้องลี้ภัยมาเป็นกรรมกรที่ไทยและมีความฝันอยากกลับไปช่วยพัฒนาเรื่องสิทธิเสรีภาพให้คนในประเทศตัวเอง หรืออดีตแชมป์นักมวยชาวปากีสถานที่ลี้ภัยมาไทยแล้วภรรยาถูกคุมขังเพราะเข้าเมืองผิดกฎหมาย เขามักทำอาหารไปส่งภรรยาและนำอาหารไปเผื่อผู้ที่ถูกกักตัวคนอื่นๆ ด้วย
“เราคิดว่าเขาลำบากอยู่แล้วก็คงปากกัดตีนถีบเพื่อช่วยเหลือตัวเอง แต่ภาพที่เกิดขึ้นคือพวกเขามักคิดถึงคนอื่นๆ ทุกคนผ่านสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครก็ตาม แต่พวกเขามีกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่และขับเคลื่อนตัวเองต่อไป แม้จะอยู่ในพื้นที่ที่คับแคบมาก”
จิรวัฒน์เลือกใช้เทคโนโลยี virtual reality (VR) และ augmented reality (AR) ในงานครั้งนี้ของเขาเพื่อเป็นเครื่องมือในการพูดถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่ให้ปรากฏขึ้น ซึ่งผู้ชมงานจะได้สัมผัสประสบการณ์ของผู้ลี้ภัยในเมืองที่อาจไม่เห็นได้ด้วยสายตาปกติ
“ถ้าเรามีปัญหาบางอย่างแต่มองไม่เห็น ก็จะไม่มีวันแก้ไขได้ สิ่งแรกคือต้องทำให้มันถูกเห็น รับรู้ว่ามีปัญหาอยู่แล้วถกเถียงกัน ที่ปลายทางถ้าสังคมไทยตกลงกันว่าจะไม่ต้อนรับผู้ลี้ภัยแล้วเราจะทำอย่างไรต่อ หรือหากเราตกลงกันว่าจะสนับสนุนผู้ลี้ภัยแล้วจะใช้วิธีการไหน เราอยู่ในสังคมที่พร้อมจะทำเป็นมองไม่เห็นปัญหา ปิดตาข้างหนึ่งแล้วใช้ชีวิตไปตามปกติ ทั้งที่สิ่งที่เรามองไม่เห็น ไม่ใช่ว่ามันไม่มีอยู่
“แม้ว่านี่ไม่ใช่ปัญหาของเราโดยตรง แต่เป็นปัญหาของมนุษย์อีกคนหนึ่ง มนุษย์ที่มีความรู้สึกเหมือนกับเรา ความพิเศษของมนุษย์คือเราสามารถเรียนรู้ความเจ็บปวดของคนอื่นได้ แม้เราจะไม่เคยผ่านความเจ็บปวดนั้นมาก่อน นั่นคือสิ่งที่ศิลปะ ภาพยนตร์ และเพลง ทำงานกับเรา ความเห็นอกเห็นใจต่อคนที่ถูกกระทำก็ไม่ต่างกัน เรื่องน่าเศร้าคือผู้ลี้ภัยหนีมาจากบ้านเกิดของเขา แต่กลับถูกซ้ำเติมจากการมาอยู่ที่นี่แล้วไม่มีทางออกที่เขาจะไปต่อได้” จิรวัฒน์กล่าว
อีกหนึ่งผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในนิทรรศการครั้งนี้คือ ศักดิ์ดา แก้วบัวดี นักแสดงและผู้ทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในเมืองโดยไม่สังกัดองค์กร ซึ่งนำการแสดงของเขามาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ลี้ภัย เขายืนยันว่าภาวะ ‘การทำเป็นมองไม่เห็น’ เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้ประเด็นผู้ลี้ภัยไม่ถูกรับรู้ในวงกว้าง แม้อาจได้รับความสนใจขึ้นมาเป็นครั้งคราวเมื่อเกิดกรณีดังอย่างนักฟุตบอลชาวบาห์เรน แต่เพียงไม่นานข่าวนี้ก็ไม่ถูกพูดถึงในสังคมอีก
การเข้ามามีส่วนร่วมในนิทรรศการครั้งนี้ทำให้ศักดิ์ดาได้สัมผัสผู้ลี้ภัยกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจากที่เขาให้ความช่วยเหลืออยู่ และเห็นปัญหาในแง่มุมที่แตกต่างกันไป
“ถ้าผมสามารถช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทุกกลุ่มได้จะดีมาก แต่ผมไม่สามารถทำได้ด้วยขีดจำกัดต่างๆ ปัจจุบันผู้ลี้ภัยที่ยื่นเรื่องขอลี้ภัยแล้วได้ไปประเทศที่สามนั้นมีจำนวนน้อยมาก กลุ่มคนที่ผมช่วยเอาอาหารไปให้หรือส่งไปประเทศที่สามปีละหลายครอบครัวก็ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบสัดส่วนผู้ลี้ภัยในเมืองกว่าหกพันคนในกรุงเทพฯ และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
“การจะช่วยเหลือพวกเขาอย่างได้ผลต้องอยู่ที่การแก้ไขกฎหมาย ซึ่งเป็นไปได้ยากเมื่อต้องต่อสู้กับแนวคิดชาตินิยม เช่นที่ผมถูกต่อว่าว่าทำไมไม่ช่วยคนไทยที่ยากจนก่อน ทำไมต้องช่วยคนต่างชาติ จึงอาจเป็นไปได้ยากที่รัฐบาลไหนจะแก้กฎหมายนี้”
สิ่งที่ศักดิ์ดาอยากสื่อสารถึงคนที่มาชมนิทรรศการ คือ อยากให้ ‘เปิดใจ’
“คนไทยส่วนใหญ่จะคิดว่าผู้ลี้ภัยมาก่อความวุ่นวายและความเดือดร้อนให้กับคนไทย เป็นตัวปัญหาที่มาก่ออาชญากรรม แต่จริงๆ แล้วผู้ลี้ภัยไม่ใช่คนที่เข้ามาก่ออาชญากรรมหรือเป็นผู้ก่อการร้าย ในทางกลับกันเขาเป็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือ หลายคนอยู่ประเทศตัวเองไม่ได้ หนีมาเมืองไทยเพราะคิดจะหนีร้อนมาพึ่งเย็น แต่เรากลับพยายามผลักดันเขาออกนอกประเทศโดยไม่ให้ความช่วยเหลือ ผมจึงอยากให้มองผู้ลี้ภัยเป็นมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้นเอง” ศักดิ์ดากล่าว
นิทรรศการ “ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ” จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, WTF Gallery and Café, คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
จัดแสดงระหว่างวันที่ 18 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2563 ณ โถงกิจกรรมชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เวลา 10.00 น. - 21.00 น. ปิดทุกวันจันทร์