ชูผลงานบอร์ด สปสช.สมัยวาระที่ 4 ช่วง 4 ปี ผลักดันรัฐเพิ่มงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท เร่งพัฒนาระบบ ขยายสิทธิประโยชน์ต่อเนื่อง รุกงานคุ้มครองสิทธิ ดูแลประชาชนเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้น นานาชาติยกย่องไทยต้นแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในวันที่ 8 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา เป็นวันครบวาระตำแหน่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สมัยวาระที่ 4 (9 ก.พ. 2559 – 8 ก.พ. 2563) ตลอด 4 ปีของการทำหน้าที่ บอร์ด สปสช.ชุดนี้ ได้สร้างผลงานสำคัญต่อหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) อย่างมาก เริ่มตั้งแต่งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้ผลักดันให้รัฐบาลปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่องจาก 1.53 แสนล้านบาท ในปี 2558 เป็น 1.9 แสนล้านบาท ในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท ที่นำมาพัฒนาสิทธิประโยชน์ดูแลคนไทยให้เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้น
จากการบริหารของบอร์ด สปสช.วาระที่ 4 นี้ ได้ปรับปรุงและขยายสิทธิประโยชน์ รวมถึงการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณการเข้าถึงบริการก็เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ สนับสนุนนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” (EMCO) โดยปรับอัตราจ่ายบริการ EMCO เป็น Fee Schedule ก่อนที่ต่อมาในปี 2560 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ปรับปรุงเป็นนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” หรือ UCEP, คุ้มครองการเข้าถึงบริการด้านยาที่จำเป็นสำหรับประชาชนด้วยการจัดหายาและเวชภัณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่ ยาบัญชี จ 2 วัคซีน ยาต้านไวรัสเอดส์ ยาต้านวัณโรค และน้ำยาล้างไต เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการที่จำเป็นอย่างทั่วถึงและลดภาระเสี่ยงของโรงพยาบาล พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมกับ สธ.วางระบบจัดการด้านต่าง ๆ ทั้งการจัดหายา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอวัยวะเทียม ตลอดจนพัฒนาบริการบำบัดทดแทนไตเพื่อความยั่งยืน
นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์สำคัญส่งผลต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วย คือการขยายขอบเขตการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการตรวจยีนในผู้ป่วยลมชักเพื่อป้องกันการแพ้ยาชนิดรุนแรง เพิ่มบริการยาบัญชี จ.(2) อาทิ ยา Raltegravir ป้องกันถ่ายทอด HIV แม่สู่ลูก, ยา Bevacizumab รักษาโรคหลอดเลือดในตาอุดตัน ยา Leuprorelin 11.25 mg inj ยาTriptorelin 11.25 mg inj. รักษาโรคหนุ่มสาวก่อนวัย และวัคซีนรวม 5 ชนิด คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ไวรัสตับอักเสบบี และโรคจากเชื้อ Haemophilus influenzae type B: Hib (DTP-HB-Hib)
“ส่วนผลงานปีงบประมาณ 2562 ได้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์สำคัญ อาทิ โรคหายาก บริการผ่าตัดวันเดียวกลับ บริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่จำเป็นสำหรับหญิงตั้งครรภ์และทารก 8 รายการ บริการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตสำหรับกลุ่ม Allogenic กรณีผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ บริการตรวจคัดกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์ในสตรีตั้งครรภ์ จัดหายากำพร้าและยาต้านพิษที่หายากหรือขาดแคลน รวมทั้งการสำรองคลังยาต้านพิษของประเทศไทย ฯลฯ ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น”
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มหน่วยบริการร่วมในระบบเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนเพิ่มขึ้น โดยให้ “ร้านขายยาแผนปัจจุบัน” ร่วมบริการคัดกรองพฤติกรรมเสี่ยง ให้สุขศึกษา คำแนะนำด้านสุขภาพ และเยี่ยมติดตามดูแลผู้ป่วยที่บ้าน รวมถึงจัดระบบสนับสนุนให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบัน รองรับนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาลของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ขณะที่งานด้านการคุ้มครองสิทธิผู้รับบริการเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่บอร์ด สปสช.ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนงานมาโดยตลอด ซึ่งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนถึง 19 กรณี และให้น้ำหนักกับการการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการติดต่อ สปสช. ด้วยการยกเว้นค่าบริการหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน สปสช.1330 ขณะเดียวกัน บอร์ด สปสช. ยังดำเนินการจัดทำข้อเสนอดูแลคนไทยตกหล่นเข้าถึงสิทธิสุขภาพ เห็นชอบพ่อแม่พนักงานธนาคานออมสินใช้สิทธิบัตรทอง และให้สิทธิผู้พิการระบบประกันสังคมเลือกใช้สิทธิบัตรทอง นอกจากนี้ในการบริหารกองทุน บอร์ด สปสช.ยังคงยึดหลักการการมีส่วนร่วม โดยให้มีการจัดกระบวนการรับฟังความเห็นประชาชน ผู้ให้บริการ รวมถึงองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง
ในการวัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลการบริหารจัดการเพื่อความโปร่งใส บอร์ด สปสช.ให้ความเห็นชอบประสานองค์กรภายนอกเพื่อประเมินระดับความพึงพอใจในกรรทำงาน ซึ่งล่าสุดในปี 2562 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สำรวจความคิดเห็นและประเมินความพึงพอใจในภาพรวมต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่าประชาชน ผู้ให้บริการ และองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง ให้คะแนนความพึงพอใจในระดับมากถึงมากที่สุด (7-10 คะแนน) ร้อยละ 97.11, 75.99, และ 93.21 ตามลำดับ นับเป็นตัวชี้วัดถึงการบริหารกองทุนบัตรทองได้ดี
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีผลงานผลักดันหลักสุขภาพประกันในระดับท้องถิ่น ผ่าน กองทุนสุขภาพตำบล โดยความร่วมมือ สปสช. กับ อปท. โดยบอร์ด สปสช.ได้แก้ไขปัญหากฎระเบียบการเบิกจ่ายเพื่อให้ทุกพื้นที่นำงบประมาณเพื่อจัดโครงการส่งเสริมป้องกันโรค บริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง สนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการดูแลระยะยาว และยังได้ปรับปรุงการจัดสรรงบประมาณ 600 ล้านบาท รองรับการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงด้านการแพทย์ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน
“สปสช. ขอบคุณกรรมการ สปสช. ทุกท่านที่ร่วมทำหน้าที่บอร์ด สปสช. สมัยวาระที่ 4 ด้วยความมุ่งมั่นอย่างเต็มกำลัง ส่งผลให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล บรรลุเป้าหมาย ขยายการดูแลประชาชนผู้มีสิทธิที่ได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง จนกระทั่งได้รับการยอมรับจากนานาชาติอย่างมากและทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยโดดเด่นในเวทีโลกและเป็นต้นแบบให้กับนานาประเทศ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว