แอฟริกาใต้วางแผนภายใน 6 ปี สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำเร็จ ยกคณะดูงาน สปสช. ชมจัดการได้อย่างเป็นระบบ
เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2563 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คณะทำงานของหน่วยงานด้านสาธารณสุข ประเทศแอฟริกาใต้ เข้าเยี่ยมชม สปสช. พร้อมฟังบรรยายสรุปจากผู้บริหาร นำโดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสปสช.
อควินา ทูลาเร่ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานประกันสุขภาพแห่งแอฟริกาใต้ กล่าวว่า ไทยและแอฟริกาใต้มีจุดร่วมกันหลายอย่าง เช่น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเป็นประเทศรายได้ปานกลาง แต่ไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ก้าวหน้า เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อ 17 ปีก่อน รวมถึงมีหน่วยงานอย่าง สปสช. ทำหน้าที่บริหารจัดการทั้งด้านการเงิน การคลัง และสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
“แอฟริกาใต้ สนใจการทำงานของ สปสช. โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างระบบบริการที่เชื่อมโยงการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคประชาชน เช่นเดียวกับการดูงานโรงพยาบาลชุมชน – โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลของกระทรวงสาธารณสุขไทย ก็ค่อนข้างก้าวหน้า จึงเชื่อว่าความสำเร็จในประเทศไทย จะสามารถนำไปปรับใช้ต่อกับบริบทของประเทศเราได้” อควินา กล่าว
ทั้งนี้ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของแอฟริกาใต้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2555 โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2569 จะสามารถบรรลุเป้าหมาย ครอบคลุมประชากรแอฟริกาใต้ทุกคนโดยเท่าเทียมกัน โดยปัจจุบัน กำลังเดินหน้าเข้าสู่เฟส 2 ซึ่งยังมี “ความท้าทาย” สำคัญ คือ ระบบประกันสุขภาพของเอกชนนั้น มีอิทธิพลมากเกินไป ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลราคาแพง ซึ่งรัฐบาลแอฟริกาใต้ ตั้งเป้าไว้ว่าจะดึงบริษัทประกันเอกชนเหล่านี้เข้าสู่ระบบ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพโดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง
ขณะที่ มาโดดา ซัมบาธา สมาชิกสภาบริหารด้านสาธารณสุข ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ประเทศแอฟริกาใต้ ในฐานะหัวหน้าคณะดูงาน กล่าวว่า แอฟริกาใต้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อปรับปรุงระบบให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น
ซัมบาธา กล่าวอีกว่า ความท้าทายสำคัญของแอฟริกาใต้คือทั้งระบบประกันสุขภาพเอกชน และระบบโรงพยาบาลเอกชนเข้มแข็งเกินไป ซึ่งวิธีแก้ปัญหาคือทำให้ภาครัฐแข็งแกร่งมากขึ้น มีระบบบริหารจัดการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเมื่อภาครัฐแข็งแกร่งขึ้น ภาคเอกชนก็จะมีบทบาทน้อยลง
ทั้งนี้ ประเทศไทยถือว่าเป็นต้นแบบของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเป็นผู้นำระดับโลกในเรื่องนี้ ซึ่งนานาชาติต่างก็ยกย่องในฐานะประเทศที่ใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อได้รับฟังและจากการศึกษาระบบสุขภาพของประเทศไทย ก็พบว่าเป็นเช่นนั้นจริง