สสส. ประกาศผลรางวัลนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ “THAIHEALTH INNO Awards” ครั้งที่ 2 หนุนพัฒนาเยาวชนไทยสู่ “นักนวัตกรรุ่นใหม่” พร้อมต่อยอดผลงานและจับมือทุกภาคส่วนร่วมใจสนับสนุน ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนและสร้างเสริมสุขภาพให้สังคมไทยอย่างยั่งยืน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดพิธีประกาศผลรางวัลโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ : THAIHEALTH INNO AWARDS ครั้งที่ 2 โดยมีสุดยอดผลงานของเยาวชนไทยทั้งในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ที่นำความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การสร้างเสริมสุขภาพให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งผ่านการคัดเลือก เข้าสู่รอบสุดท้ายทั้งหมด 18 ผลงาน จากทั้งหมด 132 โครงการ ณ ห้อง 201 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพฯ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า สสส. ดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมุ่งแก้ไขต้นเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพของคนไทย หนึ่งในนั้นคือการสร้างนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านนโยบาย สิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การปรับเปลี่ยนระบบบริการสุขภาพ และการสร้างทักษะและพฤติกรรมส่วนบุคคลให้มีสุขภาพดีครบ 4 มิติ คือ สุขภาพกาย สุขภาพจิตใจ สุขภาพทางสังคม และสุขภาพทางปัญญา ซึ่งคำว่า “นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” ในมุมมองของ สสส. เป็นได้ทั้งแนวคิดหรือสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานความคิดริเริ่มสร้างสรรค์บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ให้เกิดเป็นผลงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพทั้ง 4 มิติ
สสส. เชื่อมั่นในพลังคนรุ่นใหม่ ที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อเปลี่ยนสุขภาวะของคนในสังคมให้ดียิ่งขึ้น จึงได้จัดทำ โครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ: THAIHEALTH INNO AWARDS ซึ่งในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ของการแข่งขัน จากโจทย์หลักคือ ความอยากที่จะเปลี่ยนสังคมรอบตัวด้วยแนวคิดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อแก้ปัญหาหรือส่งเสริมสุขภาพของชุมชน หรือในเชิงประเด็นทางสังคมที่สามารถขยายผลในวงกว้างได้ โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ระดับคือ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช. หรือเทียบเท่า) โดยมีผลงานจากนักเรียนระดับมัธยมและอาชีวศึกษา ร่วมส่งเข้าผลงานทั้งสิ้น 132 ทีม และมีทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 18 ทีม ซึ่ง สสส. ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่การประกวดเพื่อให้ได้ชิ้นงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ แต่มุ่งหวังที่จะสร้าง “เมล็ดพันธุ์นักนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” ที่เกิดขึ้นทั้งลูกศิษย์และครู เพื่อบ่มเพาะแนวคิดของการเป็นนักนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการต่อยอดผลงานให้สามารถขยายผลในวงกว้างเพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้กับทุกคนในสังคมไทย”
โดยผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่ได้รับ “รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา” ได้แก่ผลงาน “D&C Air pollution” ทีม Safe Zone ไอเดียของ น.ส.ศรันย์รักษ์ ฐิติกุลนิธิ นายนพกฤษฏิ์ นิธิชัยสถิต และนายพันธบัตร ใบบุตร จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี กรุงเทพฯ ที่นำเอาปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือPM2.5 มาพัฒนาเป็นเครื่องมือตรวจวัดและแจ้งเตือน โดยใช้กระบวนการส่วนมีร่วมชุมชนบางขุนเทียน โดยติดตั้งอุปกรณ์บนหมวกกันน็อกของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง มีการทำแผนที่อากาศผ่านเว็บไซต์ที่แสดงผลแบบเรียลไทม์ตามช่วงเวลา พร้อมกับคำแนะนำเพื่อเตรียมอุปกรณ์ป้องกัน ซึ่งจะทำให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาและช่วยกันลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง
“D&C Air pollution”
รางวัลรองชนะเลิศ ระดับมัธยมศึกษา ลำดับที่ 1 ได้แก่ผลงาน ผลงาน “Easy Elastic Exercise” ทีม Companion Tiger จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ปทุมธานี ที่พัฒนาเครื่องออกกำลังกายอย่างง่าย เพื่อช่วยแก้ปัญหาสำหรับผู้ที่ต้องนั่งทำงานอยู่กับที่เป็นเวลานาน หรือผู้ที่ปวดเมื่อยจากโรคออฟฟิศซินโดรม
รางวัลรองชนะเลิศ ระดับมัธยมศึกษา ลำดับที่ 2 ผลงาน “ฝาครอบถังน้ำหมักชีวภาพจากขยะในครัวเรือนแบบมองไม่เห็นเศษอาหาร ในถังหมัก” ทีมสามสาวสวย จากโรงเรียนปลาปากวิทยาคม ที่นำปัญหาขยะล้นเมืองด้วยการพัฒนาออกแบบฝาของถังหมักเศษอาหารเพื่อทำปุ๋ยอินทรีย์ โดยฝาครอบถังมี 4 ชั้น ช่วยดักกลิ่น มีระบบกวนเศษอาหารใช้งานง่าย
รางวัลชมเชย ผลงาน “Food tech for life” ทีม Elderly Health Food จากโรงเรียนธิดาแม่พระ ที่ออกแบบและคิดค้นพัฒนาสูตรอาหารสำหรับผู้สูงอายุที่สามารถรับประทานได้ง่าย มีคุณค่าและสารอาหารที่เพียงพอโดยประยุกต์จากเมนูอาหารพื้นถิ่นเพื่อให้มีรสชาติถูกปากผู้บริโภค
สำหรับ “รางวัลชนะเลิศระดับอาชีวศึกษา” ได้แก่ “เครื่องสลัดน้ำมันจากการทอด” ทีม“ต้นยางสารภี” ซึ่งเป็นผลงานของ นายจอมขวัญ ลุงตำ และนายเทพพิทักษ์ อินคำ จากวิทยาลัยเทคนิคสารภี จังหวัดเชียงใหม่ จากพฤติกรรมนิยมอาหารทอดของคนไทย จึงออกแบบเครื่องสลัดน้ำมัน โดยใช้หลักการปั่นผ้าแห้งของเครื่องซักผ้า ใช้แรงเหวี่ยงหมุนสะบัดเพื่อให้เหลือน้ำมันตกค้างในอาหารน้อยที่สุด มีขนาดเล็กราคาถูกสามารถใช้ได้ในครัวเรือน หรือพัฒนาให้เหมาะสมกับเชิงพาณิชย์ได้ สิ่งที่สำคัญก็คือสามารถกระตุ้นให้ผู้บริโภคตระนักถึงการดูแลรักษาสุขภาพ จากการได้มองเห็นถึงความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากน้ำมันปริมาณจำนวนมากที่ต้องรับประทานเข้าไปในแต่ละเมนู
“เครื่องสลัดน้ำมันจากการทอด”
รางวัลรองชนะเลิศ ระดับอาชีวศึกษา ลำดับที่ 1 ผลงาน “Care Share Team สุขภาพสู่ชุมชน”
ทีม CMVC Healthy Plus จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ที่พัฒนากระบวนการทำงานเพื่อบริการสังคมโดยเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่อย่างเป็นระบบเพื่อร่วมกันดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน
รางวัลรองชนะเลิศ ระดับอาชีวศึกษา ลำดับที่ 2 มีจำนวน 2 ผลงาน ที่ได้รับคะแนนจากคณะกรรมการเท่ากันคือ “เครื่องล้างไข่เค็มระบบรีไซเคิลน้ำพลังงานแสงอาทิตย์” ทีม นักประดิษฐ์ วก.ไชยา จากวิทยาลัยการอาชีพไชยา ที่พัฒนาเครื่องล้างไข่เค็มที่ลดปริมาณการใช้น้ำด้วยการนำกลับมาใช้ซ้ำลดปริมาณน้ำเสียลงสู่สิ่งแวดล้อม สามารถล้างไข่เค็มได้เร็วกว่าการใช้คนล้างถึง 7 เท่า และ “อุปกรณ์ช่วยผู้สูงอายุฝึกขึ้นบันได” ทีม EP SKTC จากวิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว ที่ออกแบบและพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยพยุงตัวสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการเดินขึ้นบันได้สามารถเดินขึ้นบันไดได้อย่างสะดวกปลอดภัย และยังสามารถนำมาใช้เป็นไม้เท้าช่วยพยุงเดินได้ในเวลาเดียวกัน
“สสส. ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่การประกวดเพื่อให้ได้ชิ้นงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ แต่มุ่งหวังที่จะสร้าง “เมล็ดพันธุ์นักนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” ที่เกิดขึ้นทั้งลูกศิษย์และครูซึ่งเป็นกำลังคนรุ่นใหม่ที่สำคัญของประเทศ เพื่อบ่มเพาะแนวคิดของการเป็นนักนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อต่อยอดให้ผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพถูกนำไปใช้งาน และขยายผลต่อได้ไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้เกิดขึ้นกับทุกคนในสังคมไทย” ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวสรุป.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/