สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนแผนพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด (Smart Grid) พัฒนาประสิทธิภาพระบบไฟฟ้า ที่ตอบสนองการทำงานด้านการใช้ไฟฟ้าที่ชาญฉลาด มีความสามารถมากขึ้น แต่ใช้ทรัพยากรที่น้อยลง เพื่อรับมือยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่าน ประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา นายเพทาย หมุดธรรม รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” ที่จังหวัดปทุมธานี พร้อมเปิดเผยว่า งานสัมมนาดังกล่าวได้ดำเนินการมาต่อเนื่อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้รับทราบถึงแนวทางพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือสมาร์ทกริด ที่เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมการพัฒนาทั้งด้านการใช้และการผลิตไฟฟ้าในยุคใหม่ที่มีรูปแบบใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้กลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (Prosumer) การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายการส่งเสริมของกระทรวงพลังงาน เช่น โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน การวิจัยและพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ตลอดจนการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (EV)
“สมาร์ทกริด จะเป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่สามารถตอบสนองต่อการทำงานได้อย่างชาญฉลาด มีความสามารถมากขึ้น โดยใช้ทรัพยากรที่น้อยลง มีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือ มีความปลอดภัย มีความยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
• แผนแม่บทขับเคลื่อนสมาร์ทกริดของประเทศไทย
กระทรวงพลังงานโดย สนพ. ได้ดำเนินการศึกษาและติดตามความก้าวหน้า รวมทั้งทิศทางการพัฒนาระบบสมาร์ทกริดของโลกตั้งแต่ปี 2554 และต่อมาได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 พร้อมกับจัดทำแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทยขึ้น โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 3 กลุ่ม คือ การพัฒนาโดยเน้นการยกระดับความสามารถของระบบไฟฟ้า (Smart System) การพัฒนาโดยเน้นการยกระดับคุณภาพบริการที่มีต่อผู้ใช้ไฟฟ้า (Smart Life) และการพัฒนาโดยเน้นการยกระดับโครงสร้างระบบไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Society)
ปัจจุบันกรอบเวลาในการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดอยู่ในช่วงที่สองของแผนแม่บทฯ พ.ศ.2560 - 2564 ซึ่งเป็นช่วงแผนระยะสั้นในการพัฒนาโครงการนำร่องเพื่อทดสอบความเหมาะสมทางเทคนิคและความคุ้มค่าของการลงทุนในแต่ละเทคโนโลยี ทั้งนี้ แผนแม่บทฯ แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะเตรียมการ (พ.ศ. 2558 – 2559) ระยะสั้น (พ.ศ. 2560 – 2564) ระยะปานกลาง (พ.ศ. 2565 – 2574) และระยะยาว (พ.ศ. 2575 – 2579) เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะพัฒนาไปสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่มั่นคงและเพียงพอ
• Smart Grid เพิ่มประสิทธิภาพและกำลังการผลิตไฟฟ้า ราคาถูกลง
นางสาวฐิติพร สังข์เพชร หัวหน้ากองวางแผนพัฒนาระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ฝ่ายแผนการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า (กฟผ.) กล่าวถึงบบาทของ กฟผ. ว่า Smart Grid ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและกำลังการผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น ในขณะที่ราคาถูกลง และประชาชนสามารถที่จะผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งขายในระบบได้ด้วย โดย กฟผ. จะทำให้โรงไฟฟ้ามีความยืดหยุ่น และทันสมัยมากขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และยกระดับให้โรงไฟฟ้า และพยายามเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อยกไทยเป็น Hub ในการ Trading พลังงานไฟฟ้าในอาเซียน
• Smart Grid เรื่องใกล้ตัว ประโยชน์รอบด้าน
ทางด้าน นายทรงวุฒิ ขันดี ผู้อำนวยการฝ่ายการวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า Smart Grid จะทำให้เราทุกคนได้ใช้ไฟที่ดีขึ้น รองรับการใช้ไฟที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้มีธุรกิจที่รวบรวมการลดใช้พลังงานเกิดขึ้นในอนาคต ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปในเร็วๆ นี้ อยากให้ทุกคนไปศึกษาเรียนรู้และนำไปปรับใช้ในมุมมองของตัวเอง ย้ำว่า Smart Grid เป็นเรื่องใกล้ตัวและมีประโยชน์มาก ๆ
• Smart Grid โครงข่ายอัจฉริยะ ต่อยอดการพัฒนาหลายด้าน
รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวอีกว่า “การพัฒนาระบบสมาร์ท กริด นอกจากเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานด้านไฟฟ้าให้ดีขึ้นเพื่อรองรับการประยุกต์ใช้งานต่างๆ แล้ว ในระยะยาวจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การพัฒนาและปรับปรุงระบบโครงข่ายไฟฟ้าเดิมให้เป็นระบบสมาร์ทกริดยังถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการต่อยอดด้านต่างๆ ของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น ทั้งการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ด้านธุรกิจและการลงทุน รวมถึงพัฒนาด้านวิทยาการความรู้ทางเทคโนโลยีด้วย
สำหรับกิจกรรมสัมมนา “สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” สนพ.จะเดินหน้าจัดให้ความรู้ในจังหวัดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากที่จังหวัดปทุมธานีแล้ว มีกำหนดการจะจัดขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ราชบุรี และขอนแก่น เป็นลำดับต่อไป เพื่อให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้รับทราบนโยบาย แผนงาน และทิศทางการดำเนินงานของระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่จะเกิดขึ้นในอนาคต