สสส. เร่งเครื่อง “โครงการพหุวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาวะคนใต้” เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขับเคลื่อน “มัสยิดปลอดบุหรี่ต้นแบบ” และกิจกรรม "ละหมาดสร้างปัญญา" สร้างเครือข่ายเข้มแข็ง เสริมคุณภาพชีวิตมุสลิมไทย ห่างไกล บุหรี่ เหล้าและอุบัติเหตุ
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2562 นางสาวทัศนีย์ ศิลปบุตร คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่มัสยิดนูรุลยากีนบ้านดุหุน และมัสยิดบ้านทุ่งขี้เหล็ก อ.สิเกา จ.ตรัง เพื่อศึกษาเรียนรู้พื้นที่ต้นแบบด้านการจัดการความปลอดภัยเชิงบูรณาการประเด็นบุหรี่ เหล้า และอุบัติเหตุ ภายใต้ “โครงการพหุวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาวะคนใต้” พร้อมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการขับเคลื่อนมัสยิดปลอดบุหรี่ต้นแบบและการละหมาดสร้างปัญญาลดปัญหาบุหรี่เหล้าและอุบัติเหตุ
โดยนางสาวทัศนีย์ ศิลปบุตร คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า สถานการณ์การบริโภคยาสูบของประชากรไทย พบว่ามีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างต่อเนื่องโดยผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2560 มีประชากรสูบบุหรี่ทั้งสิ้น 10.7 ล้านคน หรือร้อยละ 19.1 เป็นเพศชายร้อยละ 37.7 และเพศหญิงร้อยละ 1.7 เพศชายมีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่าเพศหญิง 22 เท่า เมื่อพิจารณาตามสภาพทางภูมิศาสตร์ภาคใต้มีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุดร้อยละ 24.5 รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 21.1ภาคกลาง 17.6 ภาคเหนือ 17.1และกรุงเทพฯ 15.4 ขณะที่จากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบในกลุ่มมุสลิมไทย พบว่ามีอัตราการบริโภคยาสูบและค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคยาสูบสูงถึงปีละ 1,272 บาท / ครัวเรือน สูงกว่าค่าเฉลี่ยประชากรทั่วไปร้อยละ 15 หรือปีละ 1,092 บาท/ครัวเรือน จากสถานการณ์ดังกล่าว สสส. ตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมการบริโภคยาสูบในภาคใต้ จึงได้ร่วมกับ เครือข่ายคนเห็นคน มูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม และเครือข่ายงดเหล้าจังหวัดตรัง จัดโครงการ “พหุวัฒนธรรมร่วมลดปัจจัยเสี่ยงหลักต่อสุขภาพและสังคมเพื่อสุขภาวะคนใต้” เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและสร้างเสริมสุขภาวะในกลุ่มชาวมุสลิม
นาวสาวทัศนีย์ กล่าวต่อว่า สสส. สนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพในกลุ่มผู้นำศาสนาอิสลามหรือปราชญ์ทางสังคม ดึงศักยภาพของคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน ทำให้เกิดโมเดลการทำงานใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่เรียกว่า "ละหมาดสร้างปัญญา" เป็นการปรับใช้หลักศาสนามาใช้เป็นมาตรการของชุมชน เน้นการผสมผสานวิถีวัฒนธรรม และหลักคำสอนศาสนา อาทิ คำสอนพระคำภีร์ และการบรรยายธรรมหลังการละหมาด เพื่อทำให้ชาวมุสลิมมีสุขภาวะที่ดีขึ้น โดยการสร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่ ทำให้เกิด “มัสยิดปลอดบุหรี่ต้นแบบ” และสนับสนุนให้เด็กเยาวชนเข้ามัสยิดแทนที่การเฉลิมฉลองนอกมัสยิด ทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุลดลง ซึ่งปัจจุบันขยายมัสยิดปลอดบุหรี่ไปถึง 50 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้
นางไพรัช วัฒนกุล ผู้ประสานงานโครงการพหุวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาวะคนใต้ กล่าวว่า
งานมัสยิดต้นแบบปลอดบุหรี่ เป็นโครงการที่พัฒนามาจากโครงการมัสยิดลดอุบัติเหตุปีใหม่สงกรานต์ ที่เห็นผลลัพธ์ในการลดอุบัติเหตุทางถนนของอำเภอที่เข้าร่วมโครงการ จึงขยายผลมาสู่งานควบคุมบุหรี่ในพื้นที่มัสยิด ผ่านโมเดลการทำงานวิถีวัฒนธรรม หลักศาสนา เช่น คำสอนพระคำภีร์ และการบรรยายธรรมหลังการละหมาด เป็นต้น ซึ่งมัสยิดนูรุลยากีนบ้านดุหุน และมัสยิดบ้านทุ่งขี้เหล็ก ถือเป็นมัสยิดต้นแบบปลอดบุหรี่ที่เห็นเป็นรูปธรรมในทุกมิติ สะท้อนถึงความมีศักยภาพและความเข้มแข็งของคนในพื้นที่ จึงนำไปสู่ประเด็นควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพอื่นๆ เช่น เหล้า บุหรี่และสามารถเป็นต้นแบบให้แก่พื้นที่อื่นๆมาเรียนรู้ได้
อัญญีดิเรก สมันหลี โต๊ะอิหม่ามมัสยิดนูรุลยากีนบ้านดุหุน กล่าวว่า ตนเลิกบุหรี่มาแล้วกว่า 5 ปีและได้นำแนวคิดมัสยิดปลอดบุหรี่มาใช้กับมัสยิดนูรุลยากีนบ้านดุหุน โดยการจัดการสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะใช้หลัก “ฮะรอม” หรือ กฎบัญญัติห้ามที่มุสลิมทุกคนต้องละเว้นเมื่อเข้ามาละหมาดหรือมาเรียนศาสนาในมัสยิดต้องห้ามสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่เป็นของไม่ดีต่อสุขภาพ และได้เพิ่มการสอนศาสนาให้มีวันเรียนเต็มทั้งสัปดาห์ ทำให้ผู้ที่เข้ามามัสยิดต้องปฏิบัติตาม นอกจากนี้ยังได้นำเอาวิถีวัฒนธรรม หลักศาสนา เช่น คำสอนพระคัมภีร์และการบรรยายธรรมหลังการละหมาดมาช่วยในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพอื่นๆอย่างได้ผล