ผู้ว่าการ JBIC และ ประธานอาวุโส เครือซีพี ขึ้นเวที ASIA PACIFIC INITIATIVE FORUM (APIF) ที่เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น ร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจ หัวข้อ “Connectivity in Asia recent development s in regional trade” หวังสร้างความแข็งแกร่งให้กับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
เมื่อวันที่ 6-8 ธ.ค. 2562 มีการประชุม ASIA PACIFIC INITIATIVE FORUM (APIF) ที่เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการประชุมระดับภูมิภาคครั้งสำคัญที่มีผู้นำธุรกิจ นักการทูต และตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ กว่า 200 คนได้รับเชิญเพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสความร่วมมือในอนาคตที่จะต้องรับมือกับภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปของเอเชีย โดยวันที่ 7 ธ.ค. 2562 นายทะดะชิ มะเอะดะ (Mr.Tadashi Maeda) ผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้นำองค์กรธุรกิจชั้นนำจากประเทศไทย ได้รับเชิญให้อภิปรายร่วมกันภายใต้หัวข้อ “Connectivity in Asia recent developments in regional trade”
ในการนี้ นายธนินท์ ได้กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้นำเศรษฐกิจของโลก และยังเป็น 1 ใน 3 ผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลกซึ่งนับว่ามีศักยภาพไม่แพ้จีนและสหรัฐฯ เทคโนโลยีของญี่ปุ่นเปรียบเสมือนเงิน ซึ่งนี่คือโอกาสของญี่ปุ่น นอกจากนี้ในสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งมีความร่วมมือระหว่างจีน รัสเซีย ญี่ปุ่น จะทำให้ญี่ปุ่นมีโอกาส 3 ด้านคือ เงิน ทุน เทคโนโลยี (Money, Fund, Technology) จึงมั่นใจว่าญี่ปุ่นต้องมีอนาคตที่สดใส
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทย 70 ปีถือเป็นเวลายาวนาน ซึ่งได้สร้างความเชื่อมั่นแก่คนไทย และชื่นชอบที่ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทย โดยอยากเชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น และมั่นใจว่านอกจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนแล้ว ญี่ปุ่นจะชวนนักลงทุนจากสหรัฐฯและเยอรมนี มาลงทุนในไทยได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นได้เห็นถึงความสำคัญเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ของประเทศไทย โดย JBIC ได้เข้ามาสนับสนุนอีอีซีอย่างเต็มที่ รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างจีน ญี่ปุ่น และไทย ทั้งนี้ ประธานอาวุโสเครือซีพี มั่นใจว่าความสำเร็จในการร่วมมือโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินฯ จะดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เพราะรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินฯ ระยะทาง 200 กม. ครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่
สำหรับประเด็นคำถามว่า จะให้ความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนใน EEC อย่างไรท่ามกลางการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะนั้น ประธานอาวุโสเครือซีพี ตอบว่า การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกพื้นที่ สิ่งที่ทำได้คือการสนับสนุนให้คนญี่ปุ่น และจีน มาถ่ายทอดและอบรมให้คนไทยได้เรียนรู้ฝึกฝน อย่างเช่นรถไฟความเร็วสูงที่ไทยไม่มีประสบการณ์ โดยความรู้ เทคโนโลยี และความร่วมมือของญี่ปุ่น กับไทย ถือเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือของภูมิภาค และการที่ญี่ปุ่นมาลงทุนในอีอีซีร่วมกับประเทศอื่นทำให้เกิดการสร้างมาตรฐาน ทำให้เห็นว่าอีอีซีเป็นโครงการที่ดี
ในการนี้ ประธานอาวุโสเครือซีพี มีความเห็นว่าญี่ปุ่นมีความโดดเด่นทางด้านซอฟต์แวร์ อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยี ขณะที่จีนมีต้นทุนที่ต่ำ ความร่วมมือระหว่าง จีน ญี่ปุ่น และไทย จะก่อให้เกิดโมเดลใหม่สำหรับประเทศไทย แต่สิ่งสำคัญคือ"การลงมือทำ" เพราะไม่มีโครงการไหนสำเร็จได้ถ้าปราศจากการลงมือทำ
พร้อมกันนี้ได้ตอกย้ำว่าโอกาสการลงทุนของญี่ปุ่นคือ การมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และมีเงินทุน ในขณะที่ทวีปยุโรป เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องมีเทคโนโลยีอัตโนมัติ ซึ่งญี่ปุ่นก็ควรใช้หลักการเดียวกัน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ทั้งนี้ประเทศอื่น ๆ ที่น่าสนใจในเอเชียคืออินเดีย จีน และอินโดนีเซีย