สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คแห่งประเทศไทย (GCNT) โดยผู้แทน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ร่วมนำเสนอประสบการณ์เรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจ ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทานภายใต้ Seafood Taskforce บนเวทีสหประชาชาติ
ในการประชุมเรื่อง Multi stakeholders initiatives promoted by States to drive business respect for human rights - effectiveness and lessons learned ว่าด้วยความสำคัญของการร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการส่งเสริมการคุ้มครองและเคารพสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 62 ณ สำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา
ดร. เนติธร ประดิษฐ์สาร รองเลขาธิการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คแห่งประเทศไทย (GCNT) และผู้แทนเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้กล่าวถึงบทบาทของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ว่าได้ร่วมก่อตั้ง Seafood Task Force ซึ่งมีผลงานโดดเด่น ช่วยให้สหภาพยุโรปยกเลิกใบเหลืองในกรณี IUU ของไทยในที่สุด และย้ำว่า ถึงแม้ว่า CPF ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมงโดยตรง แต่ด้วยความเป็นผู้นำในด้านธุรกิจเกษตร-อาหาร และความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน CPF จึงได้ร่วมขับเคลื่อน Seafood Task Force ตั้งแต่ต้น
“ปัจจัยความสำเร็จของ Seafood Task Force มีสามด้านที่สำคัญ ได้แก่ 1. ความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เพราะทั้งผู้ผลิตอาหารสัตว์ ลูกค้าในต่างประเทศ ห้างค้าปลีกในต่างประเทศ ภาคประชาสังคม ตลอดจนภาครัฐ ต่างมาร่วมกันหาทางออก และภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคเอกชน ได้เสริมการทำงานของภาครัฐ อาทิ การใช้เครื่องติดตามเรือ (Vessel Monitoring System - VMS) ร่วมกับกรมประมงของไทย หรือการจัดตั้งศูนย์ Fisherman’s Livelihood Enhancement Center หรือ FLEC โดย CPF ที่จังหวัดสงขลา 2. การดำเนินงานที่สอดคล้องกัน จากการที่มีผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนและเกิดการประสานเชิงนโยบายอย่างแท้จริง 3. เน้นการขยายผล โดย Seafood Task Force ถือกำเนิดจาก Shrimp Task Force และได้ขยายขอบเขตเพื่อครอบคลุมอุตสาหกรรมประมง ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 50 องค์กร จากทุกภาคส่วน และจะขยายรูปแบบการดำเนินงานในลักษณะนี้ไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน อาทิ เวียดนาม” ดร. เนติธร กล่าว
จากนั้นนาย Dante Pesce สมาชิกคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ในฐานะประธานการประชุม กล่าวชื่นชมความตั้งใจจริงของทางบริษัทและของไทย โดยขอให้เป็นตัวอย่างในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการดำเนินงานต่ออุตสาหกรรมอื่นอีกด้วย