บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าแก้ปัญหาทุพโภชนาการของเด็กไทยทั่วประเทศ พร้อมส่งมอบโครงการ "ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต" ให้กับโรงเรียนบ้านห้วยส้ม ต.สันกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เป็นโรงเรียนลำดับที่ 80 ส่งเสริมเด็กและเยาวชนเข้าถึงอาหารที่สะอาด ปลอดภัย สร้างโภชนาการที่ดีอย่างยั่งยืน
ซีพีเอฟ เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอและยั่งยืน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน จึงได้ดำเนินโครงการ "ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต" มาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน โดยนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในการผลิตอาหาร ช่วยส่งเสริมทักษะและกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน แก้ปัญหาทุพโภชนาการในเด็กนักเรียน ล่าสุด ส่งมอบโครงการฯให้แก่โรงเรียนบ้านห้วยส้ม ลำดับที่ 80 โดยมีพันจ่าอากาศเอก มานิตย์ ไหวไว ปลัดอำเภอ ปฏิบัติราชการแทนนายอำเภอสันป่าตอง เป็นประธาน และนายวรรณา ตุ้มบุตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ เป็นตัวแทนส่งมอบโครงการฯ ให้แก่ นายชัยเดช เดชนาเกร็ด ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู และนักเรียน
นายวรรณา กล่าวว่า “โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนได้บริโภคอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ โดยบริษัทฯ สนับสนุนโรงเรียนบ้านห้วยส้ม ให้มีทักษะด้านการผลิตอาหาร อาทิ โรงเรือนผักกางมุ้ง โรงเพาะเห็ด แปลงสาธิตการเกษตร บ่อเลี้ยงปลา เพื่อนำผลผลิตเป็นวัตถุดิบไปประกอบอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียน นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนอาคารเรียนทางด้านการเกษตร สำหรับการสอนภาคทฤษฎีก่อนการปฏิบัติจริง และจัดทีมงานซีพีเอฟจิตอาสาให้ความรู้เกี่ยวกับสุขอนามัยให้กับน้องๆ เช่น ระบบ 5 ส. โภชนาการอาหาร เป็นต้น
ด้าน นายชัยเดช เดชนาเกร็ด ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยส้ม กล่าวว่า โรงเรียนเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งปีการศึกษา 2561 มีจำนวนนักเรียน 175 คน นักเรียนมีปัญหาทุพโภชนาการ 16 คน แยกเป็นผอมและเตี้ย 6 คน อ้วน 10 คน โครงการ ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต ช่วยให้เด็กนักเรียนเข้าถึงแหล่งอาหารที่มีคุณภาพ และสนับสนุนให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ฝึกปฏิบัติทางการเกษตร นักเรียนสามารถนำทักษะไปประยุกต์ใช้กับครอบครัวและชุมชนรอบข้างได้ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการปลูกอนาคตให้กับนักเรียนและชุมชน
ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ดำเนิน "โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต" โดยความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท โดยขยายผลการดำเนินโครงการไปสู่การพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านอาหารและโภชนาการในโรงเรียนและชุมชน ซึ่งในจำนวนโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 80 แห่ง ช่วยให้นักเรียนในชนบทและพื้นที่ห่างไกล ได้รับอาหารที่ดี มีคุณภาพ และมีแหล่งผลิตอาหารที่ยั่งยืน