ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกชีวิต เพราะความประมาทแม้เพียงเสี้ยววินาทีก็สามารถนำมาซึ่งความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ได้ โดยเฉพาะอุบัติเหตุบนท้องถนนซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างมาก โดยมีหนึ่งในสาเหตุหลักคือภาวะหลับในของผู้ขับรถ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาแอปพลิเคชัน “ขับดี” ซึ่งธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) มาประยุกต์ใช้กับรถขนส่งสินค้าของบริษัทฯ เพื่อเป็นตัวช่วยในการดูแลความปลอดภัยให้พนักงานและเพื่อนร่วมท้องถนน
หวังดี – ห่วงใยความปลอดภัยบนท้องถนน
“เอสซีจีมีนโยบายด้านความปลอดภัยและนำมาใช้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องการขับขี่ปลอดภัยที่เอสซีจีให้ความสำคัญอย่างมาก เพื่อเป้าหมาย คือ อุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์ ดังนั้น นอกจากการใช้กฎความปลอดภัยและการรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อให้พนักงานทุกคนตระหนักถึงความสำคัญแล้ว เรายังพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนโดยโฟกัสที่ผู้ขับรถ”
นายโสภณ อารยะสถาพร Plant Reliability & Innovation Technology Center Manager บริษัทระยองวิศวกรรมและซ่อมบำรุง จำกัด ในธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เล่าให้ฟังถึงที่มาของแอปพลิเคชัน “ขับดี” ซึ่งเกิดจากการระดมสมองร่วมกันของทีมวิศวกรที่ทำงานเกี่ยวกับระบบ Artificial Intelligence หรือ AI สำหรับควบคุมการทำงานของเครื่องจักรและโรงงานมาก่อน โดยทางทีมได้ต่อยอดแนวคิดนี้มาพัฒนาเป็นแอปพลิเคชัน “ขับดี” เพื่อให้เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถตอบโจทย์ความปลอดภัยได้ครอบคลุมมากขึ้น ด้วยเล็งเห็นว่านวัตกรรมนี้ไม่เพียงแต่จะสามารถนำไปใช้กับระบบรถขนส่งของโรงงานเท่านั้น แต่ในอนาคตก็สามารถนำไปใช้กับรถขนส่งสาธารณะหรือรถส่วนบุคคลอื่น ๆ เพื่อเพิ่มการดูแลความปลอดภัยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้อีกด้วย จึงเกิดเป็นแรงผลักดันให้ทีมงานอยากสร้างนวัตกรรมที่นำไปใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพในราคาสมเหตุสมผล
คิดดี – ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยแก้ปัญหา
จากการตั้งคำถามว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะตอบโจทย์ความปลอดภัยในการขับรถได้อย่างไรบ้าง ทีมวิศวกรจึงได้เริ่มจากการศึกษาค้นคว้านิยามของความง่วงและความเหนื่อยล้าจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ก่อนรวบรวมลักษณะท่าทางในทางกายภาพเหล่านั้นมาสร้างระบบที่สามารถตรวจเช็คใบหน้าและอากัปกิริยาที่แสดงถึงการสูญเสียสมรรถภาพในการขับขี่จากสาเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณของความเหนื่อยล้า เพลียสะสม ง่วงนอน หลับใน หรือการใช้โทรศัพท์มือถือ โดยแอปพลิเคชันขับดีจะทำการประมวลผลจากรูปแบบที่เปลี่ยนไปของดวงตา ปาก และใบหน้าของคนขับ โดยใช้รังสีอินฟราเรดที่ไม่รบกวนขณะขับรถและสามารถใช้งานได้ในเวลากลางคืน และสามารถตรวจสอบได้อย่างแม่นยำ ไม่มีข้อจำกัดทั้งเรื่องขนาดหรือลักษณะองค์ประกอบของใบหน้า หรือแม้แต่ขณะสวมแว่นกันแดดอยู่ ตัวอย่างการประมวลผล ได้แก่ การตรวจจับสายตาที่หลุดจากโฟกัสของเส้นทาง การคำนวณความสัมพันธ์ของสายตากับการขับรถ เช่น ขณะหักเลี้ยว ถอย หรือเบรค เป็นต้น
ใช้ดี – แม่นยำและมีประสิทธิภาพ
วิธีการใช้งานแอปพลิเคชันขับดี เริ่มจากการติดตั้งอุปกรณ์ภายในรถ ซึ่งประกอบด้วยกล้องอินฟราเรดสำหรับตรวจจับใบหน้า กล่องประมวลผลติดตั้งภายในห้องโดยสาร ระบบสั่นด้านหลังเบาะ และลำโพงสำหรับพูดคุยโต้ตอบกับพนักงานจากศูนย์ควบคุม โดยเมื่อเปิดใช้งานและเริ่มขับรถ หากแอปพลิเคชันตรวจจับได้ว่าคนขับรถมีอาการของความเหนื่อยล้า เพลียสะสม เสี่ยงต่อการง่วงและหลับใน หรือตรงกับเงื่อนไขที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ระบบประมวลผลจะสั่งการแจ้งเตือนขั้นแรกด้วยการส่งเสียงเตือนพร้อมระบบสั่นที่หลังเบาะนั่งเพื่อกระตุ้นให้คนขับรถรู้สึกตัว ซึ่งคนขับจะต้องกดปุ่มที่อยู่ติดกับพวงมาลัยเพื่อตอบสนอง ระบบจึงจะหยุดเตือน แต่ยังคงตรวจจับต่อไปตลอดการเดินทาง
การเตือนด้วยเสียงและการสั่นในแต่ละครั้ง ระบบจะเพิ่มความดังและความแรงขึ้นโดยมีทั้งหมด 3 ระดับ และหากผู้ขับขี่ยังไม่กดปุ่มตอบสนองภายในระยะเวลาที่กำหนด ระบบประมวลผลภายในรถจะโทรศัพท์ไปยังศูนย์ควบคุมเพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่โดยอัตโนมัติในทันที เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้พูดคุยสอบถามความพร้อมในการขับรถ หรือแนะนำจุดพักรถที่เหมาะสมต่อไปได้ โดยเจ้าหน้าที่จะสามารถมองเห็นใบหน้าของคนขับรถได้จากกล้องอินฟราเรด
จุดเด่นที่สุดของแอปพลิเคชันขับดีที่ตอบโจทย์การใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ คือระยะเวลาในการตอบสนองอันรวดเร็ว และความแม่นยำในการทำงานสูง ทำให้ระบบสามารถแจ้งเตือนและติดต่อศูนย์ควบคุมได้ในเวลาอันรวดเร็วระดับวินาที เพราะระยะเวลาเป็นเรื่องสำคัญมาก มิฉะนั้นหากคนขับเกิดอาการหลับในแค่เพียงหลักวินาทีก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้
ทำดี – เก็บข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
นอกเหนือจากความปลอดภัยระหว่างการปฏิบัติงานของพนักงานขับรถแล้ว แอปพลิเคชันขับดียังเก็บสถิติเพื่อนำข้อมูล Big Data มาใช้ประมวลผลในด้านการบริหารจัดการต่อไปได้อีก เช่น การประเมินผลการทำงานรายบุคคล การคำนวณจำนวนพนักงานขับรถที่เหมาะสมสำหรับแต่ละงาน หรือการวางแผนเส้นทางการเดินรถและจุดพักรถที่เหมาะสม เพื่อให้ความปลอดภัยมาพร้อมประสิทธิภาพในการทำงาน
นายโสภณ กล่าวในเรื่องนี้ว่า “ข้อมูลจากการทดลองใช้แอปพลิเคชันขับดีทำให้เห็นว่าแม้ในระยะทางที่ไม่ไกล เช่น จากระยองถึงแหลมฉบัง และแม้คนขับจะปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยของเอสซีจีอย่างเคร่งครัด ทั้งเรื่องชั่วโมงการนอนหลับพักผ่อนก่อนมาทำงาน หรือระบบการจัดการพนักงานที่ดี แต่ในการขับรถจริงระบบยังพบความเสี่ยงต่อความเหนื่อยล้าและโอกาสที่จะทำให้เกิดการหลับในอยู่ แอปพลิเคชันนี้จึงจำเป็นต้องนำมาใช้กับการขนส่งทุกรูปแบบ ทีมงานจึงไปพูดคุยกับธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ของเอสซีจี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานโลจิสติกส์ที่ต้องมีการขับรถข้ามจังหวัดในระยะทางไกล ๆ เพื่อทดลองติดตั้งระบบนี้สำหรับตรวจสอบการทำงานและเก็บข้อมูลเพิ่มเติมให้มากขึ้น”
รู้สึกดี – ความปลอดภัยของผู้ใช้งานคือความภูมิใจของทีมงาน
ทีมวิศวกรผู้พัฒนาระบบจึงภูมิใจที่สามารถสร้างแอปพลิเคชันที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับทั้งผู้ขับขี่ และผู้ร่วมท้องถนน
“ความท้าทายในการพัฒนาแอปพลิเคชันนี้ คือ การแปลงความง่วงซึ่งเป็นการแสดงออกทางกายภาพไปเป็นข้อมูลดิจิทัลให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ว่าข้อมูลเหล่านี้คืออาการง่วง รวมทั้งออกแบบการใช้งานให้เข้ากับชีวิตประจำวันของคนขับมากที่สุด โดยไม่รบกวนการขับรถตามปกติของพวกเขา เช่น สามารถใส่แว่นกันแดดขับรถได้ ไม่มีแสงหรือหน้าจอของระบบรบกวนการขับ หรือการมีปุ่มกดตอบรับการเตือนอยู่ใกล้ทำให้ไม่ต้องละมือจากพวงมาลัย เป็นต้น ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงรู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นว่างานที่พัฒนาขึ้นสามารถนำมาใช้งานได้จริงและมีส่วนช่วยผู้คนจริง ๆ เพราะความง่วงเป็นสาเหตุอันดับ 4 ของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ดังนั้น การได้มีส่วนช่วยให้สถิตินี้ของประเทศลดลงได้จึงรู้สึกภูมิใจ และรู้สึกดีที่ได้เห็นทุกคนกลับบ้านไปหาครอบครัวที่เขารักอย่างปลอดภัยหลังจากเลิกงานทุกวัน” นายโสภณ กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจสามารถติดตามเนื้อหาที่น่าสนใจอื่นๆ ของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้ที่ http://www.scgchemicals.com/allaroundplastics และสามารถติดตามข่าวสารต่างๆ ของเอสซีจีได้ที่ http://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel