วสท. ระดมวิศวกรอาสา ใช้แอพพลิเคชั่นและดาวเทียม ลงพื้นที่ จ.อุบลฯ ตรวจสอบบ้านหลังน้ำท่วม 9 – 12 ต.ค. 2562
จากเหตุการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ในฐานะสมาคมวิชาชีพทางด้านวิศวกรรมที่มีบทบาทในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยพิบัติมาโดยตลอด เตรียมความพร้อมวิศวกรอาสา ระดมลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเข้าตรวจสอบอาคารหลังอุทกภัย ในวันที่ 9 – 12 ต.ค. 62 เพื่อช่วยเหลือตรวจสอบทั้งด้านโยธา ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบสุขาภิบาล และอื่นๆ อาทิ อาคารบ้านเรือน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล ให้เกิดความปลอดภัยและคืนสู่สภาพเดิมอีกครั้ง
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุโพดุลและพายุคาจิกิเมื่อเร็วๆนี้ รวมทั้งสิ้น 32 จังหวัด ถึงแม้สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดจะคลี่คลายลงแล้ว แต่ยังมี 4 จังหวัดที่ยังคงได้รับผลกระทบอยู่ ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี , จังหวัดยโสธร , จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดศรีสะเกษ ถูกจัดลำดับให้เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยระดับ 3 จาก 4 ระดับ ซึ่งเพียงแค่จังหวัดอุบลราชธานีนั้น มีบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายทั้งหลังมีจำนวนกว่า 400 หลังคา และเสียหายบางส่วนกว่า 5,000 หลังคา ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าอยู่ในบ้านได้ การสนับสนุนจากวสท.และเครือข่ายวิศวกรอาสาก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กำหนดลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีในวันที่ 9 -12 ตค.ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์จะช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เป็นที่พึ่งพิงด้านวิศวกรรม ด้วยองค์ความรู้และประสบการณ์ทางด้านวิศวกรรมจากเหล่าวิศวกรอาสาเตรียมพร้อมช่วยเหลือ ดูแลจัดการตรวจสอบโครงสร้างสภาพอาคาร ความปลอดภัยและให้คำแนะนำ มอบขวัญกำลังใจให้กับประชาชนคนไทยที่ได้รับผลกระทบ ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและเป็นปกติสุขกันอีกครั้ง
นายสมจิตร์ เปี่ยมเปรมสุข เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวถึงการลงพื้นที่ช่วยประชาชนตรวจสอบประเมินสภาพบ้านอาคารนั้น วิศวกรอาสาจะใช้แบบฟอร์มการตรวจสอบโครงสร้างอาคารและงานระบบ โดยมีสาระสำคัญคือการระบุถึงลักษณะของอาคาร เพื่อใช้ประเมินลักษณะรูปแบบของโครงสร้าง วัสดุหลักที่ใช้ในการก่อสร้าง จำนวนชั้น การใช้งานอาคาร และอื่นๆ รวมไปถึงการประเมินจากลักษณะภูมิประเทศที่จะสามารถบ่งบอกถึงความเสียหายของตัวอาคารได้ ทั้งนี้ก่อนเข้าตรวจสอบพื้นที่นั้นต้องมั่นใจว่าโครงสร้างไม่อยู่ในสภาพเสี่ยงอันตราย มีภาวะไฟรั่วหรือไม่ สภาพการวิบัติของตัวอาคารหรือรอยแตกร้าวที่เกิดขึ้นนั้นมีผลกระทบกับโครงสร้างหรือไม่
นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวถึง ขั้นตอน เครื่องมือและเทคโนโลยี ที่ใช้ตรวจสอบบันทึกข้อมูลอาคารบ้านเรือนในพื้นที่หลังน้ำท่วมครั้งนี้ ประกอบด้วยโปรแกรม Handy GPS Free , Google Mind Map และ Google Form เพื่อสำรวจสถานะการณ์ในแต่ละจุดว่ามีสภาพเป็นอย่างไร อาคารเป็นอย่างไร โดยวิศวกรผู้ลงพื้นที่นั้นจะส่งข้อมูลภาพ ข้อความ และวีดีโอที่บันทึกได้ผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือสมาร์ทโฟนได้ทันที ซึ่งข้อมูลต่างๆ จะรวมกันออกมาเป็น Google Map โดยทาง วสท. จะทำการเชื่อมต่อข้อมูลจาก ดาวเทียมบราด้าแซท (Brada) ซึ่งเป็นดาวเทียมรายงานสดสภาพอากาศด้วยภาพ (Live Satellite Weather Image) รวมกับข้อมูลที่มีอยู่แล้ว แปลผลจากการประมวลผลภาพ (Digital Image Processing) ให้ทีมวิศวกรที่ศูนย์บัญชาการในพื้นที่วินิจฉัยได้ทันที โดยวิศวกรผู้ทำการตรวจสอบจะแจ้งผลให้เจ้าของบ้านทราบพร้อมคำแนะนำ ซึ่งผลการประเมินจะแทนค่าด้วยสี แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ สีเขียว หมายถึง สภาพอาคารบ้านเรือนที่ปลอดภัย, สีเหลือง ต้องมีการซ่อมแซม และสีแดง หมายถึงเสี่ยงอันตราย ห้ามเข้าอยู่อาศัย หรือใช้พื้นที่อาคารนั้น