กระทรวงยุติธรรม ผนึกกำลัง สมาคมเครือข่ายโกลบอล คอมแพ็กแห่งประเทศไทย จัดประชุมระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 3 โฟกัสเรื่อง“การเงินที่ยั่งยืน” ตั้งเป้าหมายส่งเสริมให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและเคารพสิทธิมนุษยชน เพื่อก้าวสู่เป้าหมายความยั่งยืน
เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2562 ณ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ( United Nations Development Programme หรือ UNDP) จัดการประชุมระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 3 : หลักการเงินที่ยั่งยืน : อะไรที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องรู้? (3rd National Dialogue on Business and Human Rights Sustainable Financing : What companies need to know?) ซึ่งได้รับเกียรติจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม โดยมี นายสมณ์ พรหมรส อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกล่าวรายงานและมีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยกล่าวต้อนรับ ซึ่งมีผู้แทนจากภาครัฐและภาคธุรกิจมากกว่า 200 คน เข้าร่วมงานดังกล่าว
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า การประชุมระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้มุ่งเน้นเรื่อง “หลักการเงินที่ยั่งยืน” หรือ “Sustainable Financing” เพื่อช่วยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน โดยนำผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการที่ให้สินเชื่อทั้งมิติสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล มาเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการลงทุนอย่างยั่งยืน เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม รวมทั้งให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มากกว่าการคำนึงถึงเฉพาะประโยชน์ของบริษัทตนเองเท่านั้น บนหลักการ win-win ซึ่งจะเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะช่วยเติมเต็มและเสริมสร้างศักยภาพให้กับภาคธุรกิจในการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและคาดว่าจะได้ประกาศใช้ในเร็ว ๆ นี้ โดยความร่วมมือกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ในการจัดประชุมให้ความรู้แก่ภาคธุรกิจในประเด็นสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง และได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมประชุม สะท้อนว่ามีการตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการเงินที่ยั่งยืน คือการตระหนักถึงแนวโน้มและความสำคัญของการวัดผลประกอบการธุรกิจที่ไม่ได้จำกัดแต่เพียงงบการเงิน แต่ต้องครอบคลุมถึงผลกระทบของธุรกิจต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาลและสิทธิมนุษยชน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาแนวทางการดำเนินธุรกิจต่อไป ซึ่งการประชุมระดับชาติครั้งนี้ในหัวข้อ Sustainable : Financing : What companies need to know? ถือเป็นโอกาสดีที่จะส่งเสริมการหารือ แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างภาคธุรกิจที่เป็นสมาชิกทั้งของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และสมาคมธุรกิจอื่นๆ อาทิ CSR Club ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการทำธุรกิจ ที่เคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีขอบเขตกว้างขวาง ทั้งมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล อีกทั้งยังทวีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเด็นที่เชื่อมโยงกับการทำงานของภาคการเงินการธนาคาร ดังตัวอย่างจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุม Bangkok Sustainable Banking Forum เมื่อเร็วๆนี้ และ UN Global Compact เอง ได้จัดทำ Principles for Responsible Investment เป็นต้น
ในการนี้ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย พร้อมสนับสนุนการหารือระหว่างภาคการเงินกับภาคเอกชนในส่วนอื่นๆมากยิ่งขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตัวอย่างปฏิบัติที่ดี รวมทั้งความท้าทายที่ประสบอยู่ ข้อเสนอแนะที่สามารถแบ่งปันและลู่ทางความร่วมมือต่อไปในอนาคต อาทิ การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มสมรรถนะแก่กันและกัน เพื่อช่วยให้แต่ละฝ่ายสามารถปรับตัว ตอบสนองวัตถุประสงค์และสภาพความเป็นจริงในทางปฏิบัติ ของทั้งภาคการเงินการธนาคารและภาคเอกชนอื่นๆ เพื่อให้นำไปสู่เป้าหมายร่วมกันในการทำธุรกิจที่ยั่งยืน
นายศุภชัยกล่าวว่า ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคธุรกิจประกอบด้วยสมาชิกกว่า 40 บริษัท และในฐานะประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งมีกิจการอยู่ใน 22 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานกว่า 350,000 คน ขอยืนยันถึงเจตนารมณ์ของสมาคมฯและภาคธุรกิจที่พร้อมจะส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยร่วมกันทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะฯของสหประชาชาติ ควบคู่กับการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิแรงงาน รักษาสิ่งแวดล้อมและต่อต้านการทุจริต ตามหลักการสากลของ UN Global Compact โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้พยายามผลักดันผ่านความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน อาทิ ผ่านการสนับสนุนวาระชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ในความรับผิดชอบของกระทรวงยุติธรรมและโครงการต่างๆของ UNDP เพื่อให้หลักการเหล่านี้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตรวจสอบย้อนกลับและวัดผลได้ อีกทั้งยังผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนทุกขนาด ทุกภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนคู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งของสมาชิกสมาคมฯและนอกสมาคมฯ และคาดหวังว่า การหารือในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญสู่การผนึกกำลังระหว่างภาคการเงิน การธนาคารกับภาคเอกชนในส่วนอื่นๆเพื่อก่อให้เกิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนและเพื่อสนับสนุนการบรรลุ Sustainable Development Goals หรือ SDGs โดยเฉพาะข้อที่ 17 ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน