เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า บรรยายพิเศษ “12 ปีกองทุนสุขภาพท้องถิ่น” ชี้กองทุนฯ คือโอกาสให้ท้องถิ่นได้แสดงศักยภาพ ระบุ หากทำถูกต้อง ประชาชนได้ประโยชน์ ก็ไม่ต้องกลัวถูกเรียกเงินคืน
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2562 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดมหกรรมกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น “12 ปี กปท. เดินหน้า พลังท้องถิ่นไทย รอบรู้ สร้างสุขภาพ อย่างยั่งยืน” โดยมีบรรยายพิเศษหัวข้อ กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นกับการเปลี่ยนแปลงสู่การพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
ศ.วุฒิสาร บรรยายตอนหนึ่งว่า แนวคิดของกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) เกิดจากความมั่นใจในหลักการกระจายอำนาจ เชื่อมั่นว่าหัวใจการแก้ไขปัญหาสังคมอยู่ที่ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเมื่อเกิดการกระจายอำนาจช่วงแรกคนอาจคิดว่าท้องถิ่นจะทำอะไรเป็น แต่ระยะเวลากว่า 12 ปีที่ผ่านมาเชื่อว่าได้พิสูจน์ให้เห็นมาแล้วมากมาย
ทั้งนี้ กปท. คือโอกาสที่ให้ท้องถิ่นได้แสดงศักยภาพ และไม่ได้ให้ยืนอยู่ตัวคนเดียว แต่มีองค์ประกอบของคณะกรรมการที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน จึงเป็นความพยายามในการสร้างความเป็นปึกแผ่นและความมีพลังในสังคม ซึ่งระยะเวลา 12 ปีของกองทุนฯ เชื่อว่าได้มีการพัฒนาไปมากและมาถูกทาง เมื่อไรก็ตามที่ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของสิ่งเหล่านี้ ผลงานต่างๆ ก็จะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหลักการกระจายอำนาจที่แท้จริงคือการให้อำนาจการแก้ปัญหาไปไว้ใกล้กับปัญหา อันเป็นหลักของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการแก้ไขปัญหาโดยภูมิสังคม ตามบริบท ตามความจำเป็น และที่สำคัญคือหลักการระเบิดจากข้างใน
ศ.วุฒิสาร ระบุว่า หลักการคิดของกองทุนฯ นั้นจะต้องคิดว่าอะไรคือการสร้างเสริมสุขภาวะที่แท้จริง ซึ่งความท้าทายคือโรคที่ควบคุมได้ ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงไม่ได้ทำไปเพื่อรักษาพยาบาล แต่ช่วยเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่เอื้อให้สุขภาพดี เพราะปัจจัยพื้นฐานในการสร้างสุขภาวะดีไม่ได้มีเพียงเรื่องสุขภาพอย่างเดียว แต่คือองค์ประกอบที่อยู่รอบตัวผู้คน จึงเป็นมุมที่ชวนให้คิดว่าการทำงานของกองทุนฯ สามารถต่อยอดนวัตกรรมและสร้างคำว่าสุขภาวะได้ในทุกมิติ
สำหรับหลักเกณฑ์การเริ่มต้นทำงานกองทุนฯ อาจเริ่มจากการมองในหลายอย่าง ทั้งในเชิงพื้นที่ กำหนดบริเวณส่วนใดที่จะเริ่ม หรือในเชิงกลุ่มเป้าหมาย เช่น ขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ควรให้ความสำคัญชัดเจนใน 2 กลุ่ม คือเด็กและผู้สูงอายุ หรืออาจมองในเชิงประเด็น เช่น เรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ เรื่องการออกกำลังกาย ดังนั้นมิติการคิดของกองทุนฯ จึงทำได้หลายมุมขึ้นกับว่าจะเริ่มจากจุดใด แต่การเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ นั้นมีความสำคัญ เพราะเมื่อทำแล้วสำเร็จได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเชื่อมั่นศรัทธาและความรู้สึกว่าทำได้ ดังนั้นจึงควรเป็นงานที่เริ่มจากจุดเล็กๆ และค่อยแผ่ขยายให้มากขึ้น
ในส่วนของการตีความนั้น ศ.วุฒิสาร ยกตัวอย่างว่าเรื่องของโรคภัยต่างๆ อาจไม่ได้ถูกเขียนไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ในนั้นมีเรื่องของการพัฒนาคน การเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ในทุกช่วงวัย ทุกมิติ และมีคุณภาพ สิ่งที่ต้องทำคือถอดออกมาว่าในแต่ละมิติคืออะไร แต่ละช่วงวัยต้องการอะไร ที่สำคัญคือการทำให้มีคุณภาพเป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือส่วนที่กองทุนฯ จะต้องกลับมาคิดวางแนวทางและทำให้เกิดการขยายผลมากขึ้น
“ทุกวันนี้ท้องถิ่นมีความสามารถในการจัดการด้านสุขภาพมากขึ้น แต่คนไม่ค่อยเห็นว่าองค์กรท้องถิ่นได้ทำอะไร มักคิดแต่ว่ามีเจ้าพ่อเจ้าแม่ มีทุจริต ผลประโยชน์ ท้องถิ่นเองก็อ่อนแรงกับการถูกตรวจสอบ กลัวถูกตรวจ ถูกเรียกเงินคืน จึงอยากฝากว่าอะไรก็ตามที่คิดว่าทำแล้วประชาชนได้ประโยชน์และคุณไม่ได้โกง ก็ไม่ต้องไปกลัว เพราะระเบียบต่างๆ ไม่มีทางเขียนให้เอื้อต่อปัญหาและความซับซ้อนได้ สิ่งสำคัญคือผลลัพธ์และประโยชน์ที่เกิดขึ้นมากกว่าวิธีการ” ศ.วุฒิสาร ระบุ
ศ.วุฒิสาร กล่าวเสริมถึงวิธีคิดของท้องถิ่นในการทำงานว่า ให้คิดถึงประโยชน์ของประชาชนทั้งในเชิงประสิทธิภาพ และในเชิงลดความเหลื่อมล้ำหรือการสร้างโอกาส เช่น ทางจักรยาน ที่บางเทศบาลมีการตั้งคำถามว่าไม่คุ้มค่าเพราะมีผู้ใช้งานจำนวนน้อย ซึ่งหากมองว่าการได้ประโยชน์คือต้องมีผู้ใช้เยอะ ก็จะไม่เกิดทางลาดให้วีลแชร์ เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นการทำให้คนเข้าถึงและเกิดความเสมอภาค ซึ่งความคุ้มค่าในมุมนี้มักไม่ค่อยถูกพูดถึง หรือในส่วนของการเปิดโอกาสให้ผู้ขาดโอกาสได้รับ จึงเป็นหน้าที่ที่ท้องถิ่นต้องคิดในการทำเพื่อเสริมหรือลดช่องว่างของคนในสังคม
ศ.วุฒิสาร ยังเน้นย้ำว่าการที่กองทุนฯ จะประสบความสำเร็จจำเป็นที่ต้องใช้ใน 4 หลัก คือ 1. นวัตกรรม ที่จะต้องคิดจากปัญหาบนพื้นฐานภูมิสังคมและระเบิดจากข้างใน ผสมผสานระหว่างแนวคิดตะวันตกกับวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อได้รับอิสระทางความคิด 2. ต้องมีความยืดหยุ่น โดยระเบียบของกองทุนฯ จะต้องยืดหยุ่นได้โดยเปิดช่องว่างให้สามารถทำอะไรได้มากขึ้น
3. ความเชื่อมโยง โดยกองทุนฯ จะไม่ยืนอยู่คนเดียวด้วยท้องถิ่น แต่ต้องเชื่อมโยงกับภาครัฐ ท้องถิ่นอื่นๆ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ในการเสริมพลัง ระดมทรัพยากร 4. ความโปร่งใส ซึ่งความโปร่งใสของกองทุนฯ จะเป็นเครื่องมือเดียวในการสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธา ทำให้คนมั่นใจในการบริหาร การตัดสินใจ จึงมีความสำคัญต่อการจัดการที่จะทำให้กองทุนสำเร็จ
“ความสำเร็จของกองทุนฯ นี้ไม่ได้อยู่ที่เงินเยอะ หรือกิจกรรมมาก แต่อยู่ที่ความสมประโยชน์ ตอบโจทย์สิ่งที่เป็นปัญหาชุมชนหรือสังคมได้เพียงใด กองทุนฯ เป็นเพียงพื้นที่แชร์ความคิดร่วมกันในการทำงาน ให้พลังในการปลดปล่อย มีหน้าที่เอื้ออำนวยให้นวัตกรรมที่ระเบิดจากข้างในเกิดขึ้นจริง” ศ.วุฒิสาร กล่าว