สสส. ร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ตั้งเป้า “1 ตำบล 100 คนงดเหล้า” เริ่ม!เข้าพรรษานี้ เดินหน้ามาตรการ 4 สร้าง 1 พัฒนา ร่วมมือ 4 องค์กรหลักในพื้นที่ สร้างชุมชนลดเมา เพิ่มสุข ลุยหาแนวร่วมประกาศความมุ่งมั่น “สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น 1 ตำบล 100 คนงดเหล้า”
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2562 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน(สำนัก 3) จัดเวทีจัดการความรู้สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น “1 ตำบล 100 คนงดเหล้า” ภายใต้แนวทางขับเคลื่อน “ลดเมา...เพิ่มสุข 4 สร้าง 1 พัฒนา” ประจำปี 2562 โดยนางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์รณรงค์และขับเคลื่อน "ลดเมา เพิ่มสุข” ในช่วง 7 วันอันตราย (วันที่ 27 ธ.ค. 2561 – 2 ม.ค. 2562) ของศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ศวฉ.แอลกอฮอล์) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส.ที่ดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ทั่วประเทศ โดยภาพรวมอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตลดลง โดยเฉพาะอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับลดลงร้อยละ 51.63 ขณะที่ช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์จาก 241 ตำบลเปรียบเทียบช่วงเดียวกันในปี 2561 และปี 2562 พบว่า อุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับลดลงจาก 190 ครั้ง จากปี 2561 และในปี 2562 ลดลงเหลือ 134 ครั้ง หรือลดลงร้อยละ 29.47 ในปี 2561 มีผู้บาดเจ็บ 603 คน ปี 2562 ลดลงเหลือ 335 คน หรือลดลงร้อยละ 44.44 ผู้ประสบเหตุจากเมาแล้วขับจาก 217 คนในปี 2561 ลดลงเหลือ 145 คนในปี 2562 หรือลดลง 33.18 ซึ่งเป็นผลจาการดำเนินงานขับเคลื่อน "ลดเมา เพิ่มสุข : 4 สร้าง 1 พัฒนาชุมชนลดเหล้า ลดอุบัติเหตุ” อย่างต่อเนื่อง
นางสาวดวงพร กล่าวต่อว่า แนวทางขับเคลื่อน 4 สร้าง 1 พัฒนา คือ 1. สร้างต้นแบบ 2. สร้างเส้นทางปลอดภัย 3. สร้างระบบช่วยเลิกโดยชุมชน 4. สร้างกฎกติกามาตรการทางสังคมและการบังคับใช้กฎหมาย ส่วน 1 พัฒนา คือการพัฒนา 4 องค์กรหลัก (ท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงาน และกลุ่มองค์กรชุมชน) สร้างชุมชนลดเมา เพิ่มสุข ซึ่งเป็นวิธีการในระดับพื้นที่ที่ สสส.ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยมี อปท.เป็นกลไกร่วมกับภาคีในระดับพื้นที่ ด้วยการบูรณาการเข้าสู่งานประจำอันเป็นภารกิจของอปท. ในปีนี้มีเป้าหมายรณรงค์ให้เกิด 1 ตำบล 100 คนงดเหล้า โดยใช้โอกาสช่วงเข้าพรรษาเป็นจุดเริ่มต้น
“สำหรับรูปธรรมเด่นที่ทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ตัวอย่างเช่น เทศบาลตำบลกลางหมื่น อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ตั้งจุดบริการประชาชนและด่านชุมชน โดยมี ผู้ใหญ่บ้าน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่าย พลเรือน (อปพร.) กู้ชีพ เฝ้าระวังสกัดกั้นคนเมา และให้ อสม. บริการนวดเพื่อคลายความเมา ตามสโลแกน “จี้จุด หยุดเมา”การทำบันทึกความร่วมมือของ 4 องค์กรหลัก ในการลดอุบัติเหตุทางถนน การมอบเกียรติบัตรสำหรับบุคคลต้นแบบเลิกเหล้า หรือองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านในดง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี จัดกิจกรรมดนตรีเลิกเหล้าถ้าเมาห้ามขึ้น และกิจกรรมครอบครัวต้นแบบเลิกเหล้าครอบครัวอบอุ่น เป็นต้น” นางสาวดวงพร กล่าว
นอกจากนี้ในงานยังมีการมอบเกียรติบัตร “สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น” 3 ประเภท ได้แก่ 1.สุดยอดผู้นำต้นแบบเลิกเหล้า 2.สุดยอดคนต้นแบบ และ 3. สุดยอดชุมชนต้นแบบ และมีการประกาศความมุ่งมั่น “สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น 1 ตำบล 100 คนงดเหล้า” โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ที่ร่วมรณรงค์อย่างต่อเนื่องรวมทั้งสิ้น 105 อปท. ประกอบด้วย นายก หรือ ปลัดอปท. นักวิชาการ สุดยอดผู้นำ “ลดเมา เพิ่มสุข” จำนวน 400 คน