สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หารือแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนากำลังคนของประเทศต่อเนื่องถึงคิวผนวกกำลังหารือระหว่างผู้สร้างและผู้ใช้กำลังคน ทั้งภาคมหาวิทยาลัย บริษัทเอกชน และบริษัทสตาร์ทอัพระดมสมองพัฒนากำลังคนตอบโจทย์ความต้องการประเทศแบบตรงเป้า
หลังจากที่ได้มีการเชิญคณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ กว่า 60 ท่าน มาร่วมแลกเปลี่ยนหารือแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนากำลังคนของประเทศ เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านและตอบโจทย์ความต้องการด้านกำลังคนของประเทศอย่างแท้จริง การประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนากำลังคนของประเทศ จึงได้เชิญผู้สร้างและผู้ใช้กำลังคน ทั้งภาคมหาวิทยาลัย บริษัทเอกชน และบริษัทสตาร์ทอัพ มาร่วมรับฟังแนวทางการพัฒนากำลังคน ตลอดจนให้ความคิดเห็นต่อข้อเสนอกลไกการพัฒนากำลังคนที่ สอวช. จัดทำขึ้น ใน 4 เรื่อง คือ 1. หลักสูตรและการพัฒนาบุคลากรราวมระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรม (University – industry curriculum and training) 2. การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long learning (LLL)) 3. มหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial University) และ 4. การเคลื่อนย้ายบุคลากร (Brain Circulation) ทั้งนี้ จากข้อเสนอกลไกการพัฒนากำลังคนทั้ง 4 เรื่อง มีเป้าหมายที่จะนำไปสู่การเกิดกลไกอำนวยความสะดวกในการใช้ศักยภาพบัณฑิตต่างชาติ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในระบบนวัตกรรม อย่างมีประสิทธิภาพ มีการพัฒนาบุคลากรทั้งกลุ่มช่างเทคนิค วิศวกร ผู้จัดการนวัตกรรม และนักวิจัย ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม และมีจำนวนเพียงพอ รวมทั้งกลุ่มคนวัยทำงานสามารถเข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาทักษะที่ตอบการทำงาน โดยปราศจากข้อจำกัดด้านเวลาและวัยวุฒิ และตอบสนองรูปแบบการทำงานและการเรียนของแต่ละบุคคล ตลอดจนเกิดธุรกิจนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีมูลค่าสูงอันเป็นผลผลิตจากองค์ความรู้ของสถาบันอุดมศึกษา
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า สอวช. ได้มีการจัดทำแนวคิดการพัฒนากำลังคนเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาประเทศ ให้มีความสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศทั้ง EEC, อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-curve), BCG Economy, EECi, Startup รวมถึงนโยบายภาคสังคม / ชุมชน / สิ่งแวดล้อม เช่น OTOP การส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนแต่ละนโยบายคือ การพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งจากการสำรวจความต้องการกำลังคนพบว่า ความต้องการกำลังแรงงานในพื้นที่อีอีซี ปี 2562 -2566 มีความต้องการ 475,793 ตำแหน่ง โดย 3 อันดับแรกของอุตสาหกรรมที่มีความต้องการสูงสุด คือ อุตสาหกรรมดิจิทัล มีความต้องการ 116,222 ตำแหน่ง รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ต้องการ 109,910 ตำแหน่ง และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มีความต้องการ 58,228 ตำแหน่ง และหากจำแนกตามวุฒิการศึกษาพบว่า ในพื้นที่อีอีซีมีความต้องการกำลังแรงงานอาชีวศึกษามากที่สุด รองมาเป็นระดับปริญญาตรี ในส่วนความต้องการบุคลาการเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) ในช่วงปี 2562 – 2566 พบว่า มีความต้องการกำลังคนในสายวิทยาศาสตร์ (STEM) ระดับปริญญาตรี โท และเอก (ไม่รวมถึงอุตสาหกรรมการบิน) จำนวนถึง 107,045 ตำแหน่ง ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่ายังการขาดแคลนกำลังคนจำนวนมาก สอวช. จึงได้จัดทำแนวทางการพัฒนากำลังคนที่ตอบโจทย์นโยบายการพัฒนาประเทศ ทั้งกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มานำเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้สร้าง และผู้ใช้กำลังคนได้มาร่วมแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นในเวทีการประชุมนี้
“แนวทางการพัฒนากำลังคนที่ตอบโจทย์นโยบายการพัฒนาประเทศนั้น นอกจากต้องทราบถึงความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและบริการ รวมถึงสร้างแหล่งทุนด้านการพัฒนากำลังคนแล้ว อีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนากำลังคน คือ ภาคการอุดมศึกษาอย่างมหาวิทยาลัย ที่จะต้องพลิกโฉมใน 4 ด้าน คือ 1. พลิกโฉมสู่มหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial university enterprise) 2. มีการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม Excellence in Tech Transfer Engagement 3. มีการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning future workforce) และ 4. มีการเคลื่อนย้ายบุคลากร (Brain circulation and mobility) ซึ่งการพลิกโฉมทั้ง 4 ด้านข้างต้น จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้” ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังได้มีการแลกเปลี่ยน และให้ข้อเสนอแนะที่หลากหลาย โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน รวมถึงหน่วยงานด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังคน เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการทำงานทั้งระบบ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเสนอให้มองภาพกำลังคนวัยเกษียณควบคู่ไปกับการสร้างกำลังคนระดับอุดมศึกษา และวัยทำงานด้วย เพื่อให้มีการวางแผนที่สอดรับกับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ในส่วนของภาคเอกชน
ได้แสดงความเห็นถึงการดึงนักศึกษามาทำงานในสถานประกอบการ โดยใช้กลไก “โรงเรียนในโรงงาน หรือ Work integrated Learning: WiL” ซึ่งภาคเอกชนยอมรับว่าเป็นนโยบายที่ตอบโจทย์ได้ตรงใจสถานประกอบการ เพราะเด็กจะได้สัมผัสงาน ได้ลงมือทำงานในรูปแบบที่ไม่ใช่แค่การฝึกงาน ทำให้เด็กได้ซึมซับการทำงานอย่างแท้จริงและสามารถทำงานตอบโจทย์สถานประกอบการได้ อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ภาคเอกชนได้นำเสนอในที่ประชุมคือ การส่งเสริมให้สมาคมวิชาชีพหรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในการพัฒนากำลังคนผ่านการดึงภาคการอุดมศึกษาเข้ามาร่วมพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ ตรงกับความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรมหรือวิชาชีพ ซึ่งเชื่อว่ากลไกดังกล่าวจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยพัฒนากำลังคนของประเทศได้