นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงาน ศาลยุติธรรม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการให้บริการชำระเงินค่าปรับผู้ประกัน บริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด และสาธิต เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางในการชำระเงินค่าปรับนายประกันให้มีความสะดวก รวดเร็ว
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 เวลา 13.30 น. นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงาน ศาลยุติธรรม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการให้บริการชำระเงินค่าปรับผู้ประกัน กับนายวีรเดช อัครผลพานิช รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด และสาธิต การชำระเงินค่าปรับผู้ประกันด้วยบูทจำลองเคาน์เตอร์เซอร์วิส ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักงานศาลยุติธรรม ชั้น 12 อาคารศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางในการชำระเงินค่าปรับนายประกันให้มีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้ามาติดต่อราชการศาล
นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราว แล้ว ผู้ประกันซึ่งมีหน้าที่ ที่จะต้องนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาศาลตามเวลาที่กำหนดนัด หากผู้ประกันไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาศาลตามกำหนดนัดโดยไม่มีเหตุผลสมควร จะถือว่า ผู้ประกันนั้น ผิดสัญญาประกัน และจะสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญาประกัน ทั้งนี้ในการชำระค่าประกันผู้ประกันสามารถยื่นคำร้องขอผ่อนชำระค่าปรับต่อศาลได้ ซึ่งในการนำเงินมาผ่อนชำระค่าปรับต่อศาล ผู้ประกันจะต้องเดินทางมาศาล ทำให้ผู้ประกันไม่ได้รับความสะดวก เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย สำนักงานศาลยุติธรรม จึงให้ผู้ประกันสามารถโอนเงินชำระเงินค่าปรับผู้ประกันผ่านทางธนาคารในระบบ KTB Corporate Online และเพื่อเป็นการเพิ่มความสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้เพิ่มช่องทาง ให้ผู้ประกัน โดยได้พัฒนาระบบการชำระเงินค่าปรับผู้ประกันผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และร้านค้าที่มีสัญญาลักษณ์เคาน์เตอร์เซอร์วิสทุกสาขา เพื่อให้ผู้ประกันได้รับความสะดวก รวดเร็ว มากยิ่งขึ้น ซึ่งต่อไปในอนาคตสำนักงานศาลยุติธรรมจะขยายระบบการชำระเงินดังกล่าวมาใช้กับการชำระค่าธรรมเนียมศาล และเงินกลางต่อไป
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวต่อไปว่า สำนักงานศาลยุติธรรมมุ่งมั่นในการ เปลี่ยนผ่านศาลยุติธรรมสู่ยุคดิจิทัล เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็น D – Court (ศาลดิจิทัล) ในปี 2020 ด้วยการพัฒนาระบบให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการและสร้างความหลากหลายของรูปแบบการให้บริการ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาการให้บริการประชาชนให้เข้าถึงความยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และเสมอภาค