ซีพีเอฟ ส่งมอบศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์แห่งที่ 3 ณ สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) อ.เมือง จังหวัดมุกดาหาร
เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2562 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานในพิธีเปิดและส่งมอบศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ แห่งที่ 3 ณ สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) อ.เมือง จังหวัดมุกดาหาร ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในจังหวัดชายแดนไทย
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า ศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และภาคเอกชน ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) เข้าประเทศไทย โดยศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงใน 5 จังหวัดชายแดน ประกอบด้วย สระแก้ว หนองคาย มุกดาหาร นครพนม และเชียงราย ซึ่งศูนย์ที่จังหวัดมุกดาหารได้รับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เพื่อช่วยให้การฆ่าเชื้อโรคพาหนะขนส่งทุกสัตว์ ที่ด่านกักกันสัตว์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“แม้ว่าเชื้อโรค ASF จะไม่ติดต่อหรือส่งผลกระทบต่อมนุษย์ แต่เป็นโรคระบาดรุนแรงในสุกร ที่ยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน ดังนั้น ศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ จะเป็นปราการปัองกันความเสียหายกับเกษตกรกรผู้เลี้ยงสุกร ตลอดจนช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยของอาหารให้กับผู้บริโภคได้อีกด้วย” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว
นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า ศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ ไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทยเท่านั้น ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการค้าชายแดนมากขึ้น เพราะสินค้าปศุสัตว์ทำรายได้ให้กับประเทศมูลค่านับแสนล้านบาท
ด้านนายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างศูนย์ฯ รวม 2 แห่ง ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดเชียงราย ซึ่งจะก่อสร้างเสร็จภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้จัดอบรมให้ความรู้แก่พนักงานฟาร์มของบริษัท และเกษตรกรในโครงการคอนแทร็กฟาร์ม รวมทั้งร่วมกับกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจัดอบรมเกษตรกรรายย่อยในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ได้เข้าใจและตระหนักถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งให้คำแนะนำเพื่อพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ให้มีระบบป้องกันโรคที่ดีควบคู่กับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอย่างเคร่งครัด และต่อเนื่อง