ประชาชนในเขต กทม.ที่เป็น 7 กลุ่มเสี่ยงโรคไข้หวัดใหญ่ “จองสิทธิฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี ผ่านระบบออนไลน์” เริ่มตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิ.ย.62 สปสช.เขต 13 กทม.รุกพัฒนาระบบ ช่วยอำนวยความสะดวกกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงวัคซีนไข้หวัดใหญ่
นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร (สปสช.เขต 13 กทม.) กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์การโรคไข้หวัดใหญ่โดยกรมควบคุมโรค กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สูงสุดคือ 810.07 ต่อประชากรแสนคน ในประชากรกลุ่มเสี่ยงอาจมีภาวะรุนแรงได้ ที่ผ่านมา สปสช.ได้จัดเตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อบริการให้กับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษาพยาบาล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงจากโรคไข้หวัดใหญ่ โดยในปี 2562 พื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับจัดสรรวัคซีนไข้หวัดใหญ่จำนวน 220,000 โด๊ส
ทั้งนี้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถขอรับบริการฉีดวัคซีนได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่น โรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่ร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ตั้งแต่วันนี้ และเพื่ออำนวยความสะดวกและมั่นใจได้ว่าจะได้รับวัคซีนแน่นอนเมื่อเข้ารับบริการยังหน่วยบริการ ในปีนี้ สปสช.เขต 13 กทม.ได้พัฒนาระบบเพื่อเปิดให้ประชาชนสามารถจองสิทธิรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ผ่านระบบออนไลน์ได้ โดยลงทะเบียนได้ 2 รูปแบบ ดังนี้
1.ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับข้อความผ่าน SMS จำนวน 100,000 ราย สามารถกดยืนยันจองสิทธิฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ทันที โดยระบบจะบันทึกข้อมูล
2.ผ่านระบบลงทะเบียนของ สปสช.เขต 13 กทม.ตาม Link นี้ https://bkkapp.nhso.go.th/public/vaccine/
นพ.วีระพันธ์ กล่าวว่า ส่วนขั้นตอนของการลงทะเบียนจองสิทธิฉีดวัคซีนผ่านระบบออนไลน์ มีดังนี้
ใส่เลขบัตรประชาชน 13 หลัก และเบอร์โทรศัพท์มือถือ, รอรับรหัสยืนยันทางข้อความ sms (ตามเบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียน), เลือกหน่วยบริการในการเข้ารับวัคซีน, โทรศัพท์นัดวันฉีดวัคซีนกับหน่วยบริการที่เลือก เมื่อดำเนินการตามขั้นตอนนี้แล้วให้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามนัดยังหน่วยบริการที่เลือกไว้ ซึ่งประชาชนที่สนใจสามารถจองสิทธิฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ทั้งนี้สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช.1330 ตลอด 24 ชม.
สำรับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์มากกว่า 4 เดือน 2.เด็กอายุ 6 เดือน-2 ปี 3.ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค คือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด 4.ผู้สูงอายุ มากกว่า 65 ปี 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6.โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) และ 7. โรคอ้วน น้ำหนักตัวมากกว่า 100 กก. หรือ ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร