พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคาร "จักรีทศมรามาธิบดินทร์" ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ พร้อมด้วยนายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย รองศาสตราจารย์นายแพทย์ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะกรรมการสภากาชาดไทย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ เป็นอาคารสูง 15 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 4 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 50,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ระหว่างอาคาร ภปร และอาคาร สก. โดยเชื่อมต่อกับอาคาร ภปร ซึ่งเป็นอาคารผู้ป่วยนอกอาคารหลักของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มากว่า 30 ปี
อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ก่อสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่และขยายการให้บริการผู้ป่วยนอก เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น มุ่งให้บริการที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วและครบวงจร โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริการผู้ป่วย เช่น หุ่นยนต์จ่ายยา หุ่นยนต์ลงทะเบียนและคัดกรองอาการ และการผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในขั้นตอนการบริการต่างๆ กำหนดพื้นที่ในการคัดกรองโรคติดต่ออย่างเป็นระบบ มีพื้นที่รอคอยที่สวยงาม สะดวกสบาย เป็นต้นแบบการบริบาลผู้ป่วยนอกของประเทศและยกระดับการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขสู่สากล
อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ แห่งนี้ ยังเป็นสัญลักษณ์ในการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ในการบำบัดโรคภัย ให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนถ้วนหน้าเสมอกัน ตลอดจนเชิดชูเกียรติแห่งกรุงสยามให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ และสอดคล้องกับหลักการดำเนินการของสภากาชาดไทยที่ให้บริการแก่ประชาชนทุกระดับด้วยความเสมอภาค ด้วยความยึดมั่นว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นโรงพยาบาลเพื่อปวงชน ที่มุ่งมั่นให้การรักษาพยาบาลที่ดีที่สุด ด้วยความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ และเอื้ออาทร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอาคารแห่งนี้ ว่า อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ มีความหมายว่า อาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระรามาธิบดินทรราชา รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ปัจจุบันโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีศักยภาพในการรองรับการบริการผู้ป่วยนอกได้สูงสุดถึงวันละ 10,000 คนหรือมากกว่า 2 ล้านคนต่อปี และพร้อมรับการส่งต่อผู้ป่วยโรคยากและซับซ้อนกว่า 200,000 คนต่อปี
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์การดำเนินงานจัดสร้างอาคารจักรีทศม รามาธิบดินทร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมทั้งกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอาคาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายชื่ออาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์
การนี้ นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของที่ระลึก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม เหรัญญิกสภากาชาดไทย เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของที่ระลึก แด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของที่ระลึก แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย กราบบังคมทูลเบิกผู้มีอุปการคุณและผู้บริจาคเงินสมทบทุนในการก่อสร้างอาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานของที่ระลึก
จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ซึ่งน้อมนำมาจากพระปฐมบรมราชโองการ ประกอบด้วยนิทรรศการ 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 “สืบสาน” ณ ตึกวชิรุณหิศ จัดแสดงเรื่องราวในอดีตตั้งแต่การก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ตั้งแต่พ.ศ. 2457 และพัฒนาการงานบริการผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถึงปัจจุบัน
ส่วนที่ 2 “รักษา” ณ อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ ชั้น 1 บอกเล่าเรื่องราวปัจจุบันที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ใช้เทคโนโลยีอันล้ำสมัย พร้อมทั้งจัดแสดงความสำเร็จของโครงการ “แสงแห่งความหวัง” โครงการรักษาพยาบาลด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ประกอบด้วย 1.) การรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน 72 ราย 2.) การผ่าตัดโรคเนื้องอกในช่องอกและช่องท้องด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด 72 ราย 3.) การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง 36 ราย และ 4.) การรักษาโรคทางกระจกตาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง 36 ราย ด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมประชาชนทุกหมู่เหล่า ทำให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่ใช้เทคโนโลยีอันซับซ้อน เข้าถึงได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูง หายขาดจากโรคด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี
ส่วนที่ 3 “ต่อยอด” ณ อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์ ชั้น 2 จัดแสดงการก้าวไปสู่อนาคตโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการบริการผู้ป่วย ประกอบด้วย หุ่นยนต์จ่ายยา หุ่นยนต์ลงทะเบียนและคัดกรอง หุ่นยนต์ช่วยรักษามะเร็งไทรอยด์ และการผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หลากหลายรูปแบบ ในขั้นตอนการบริการต่างๆ และการปรับขั้นตอนบริการเพื่อให้ครบวงจรในจุดเดียวโดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง
จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องประทับรับรอง เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธยในสมุดที่ระลึก พร้อมฉายพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และคณะผู้บริหารสภากาชาดไทย ผู้บริหารโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และผู้มีอุปการคุณ สมควรแก่เวลา จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ