เดอะวิสดอมกสิกรไทย จัดกาลา ดินเนอร์ แห่งปี เรื่องราวเอ็กซ์คลูซีฟระดับโลกที่เต็มด้วย Passion ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น
เดอะวิสดอมกสิกรไทย จัดงาน THE WISDOM GALA DINNER ด้วยคอนเซปต์ The Legends to the New Eras ซึ่งสร้างสรรค์ความพิเศษขึ้นมาโดยเฉพาะ ด้วยการเรียงร้อยเรื่องราวการถ่ายทอด บ่มเพาะประสบการณ์จากรุ่นสู่ รุ่นในหลากหลายมิติ จนตกผลึกเป็น WISDOM ที่ใช้ทั้งในการบริหารธุรกิจ การทำงาน และการใช้ชีวิต โดย ดร.พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ให้การต้อนรับแขกคนสำคัญ เดอะวิสดอมกสิกรไทย
THE WISDOM GALA DINNER ภายใต้คอนเซปต์ The Legends to the New Eras นำเสนอความพิเศษด้วยทอล์กโชว์พิเศษครั้งแรกกับเรื่องเล่าอาณาจักรธุรกิจครอบครัวระดับโลก โดย ดร. วิทย์ สิทธิเวคิน และเข้าสู่ไฮไลท์ของงานคือ เอ็กซ์คลูซีฟทอล์กเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของครอบครัวสุโกศล โดยได้รับเกียรติอย่างสูงจากคุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี และคุณกฤษดา สุโกศล แคลปป์ แลกเปลี่ยนมุมมองการบริหารธุรกิจโรงแรมผสานกันกับ Passion และประสบความสำเร็จรับรางวัลระดับโลกอย่างต่อเนื่อง พร้อมด้วยมินิคอนเสิร์ตของทั้งสองท่าน ร่วมด้วยบทเพลงเพราะๆ และโชว์พิเศษจากศิลปินระดับประเทศ ได้แก่ ป๊อด ธนชัย อุชชิน, แก้ม วิชญานี เปียกลิ่น, ไอซ์ พาริส อินทรโกมาลย์สุต, น้ำมนต์ ธีรนัยน์ ณ หนองคาย และดื่มด่ำกับความพิเศษของเมนูอาหารที่สร้างสรรค์ร่วมกันระหว่างเชฟที่เชี่ยวชาญอาหารต่างสไตล์ และได้รางวัลมิชลินสตาร์ติดต่อกันหลายปีซ้อน คือ เชฟ ธนินธร จันทรวรรณ แห่ง Chim by Siam และเชฟ ธิติฎฐ์ ทัศนาขจร แห่ง Le Du
จากรุ่นบุกเบิกสู่อาณาจักรธุรกิจระดับโลก
เริ่มความพิเศษแรกของงานกับ Exclusive Talk: Legacy Beyond Boundaries ซึ่งเป็นธีมที่จัดเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวจากการสร้างสรรค์ของ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน นักเล่าเรื่องที่สามารถสร้างพลังให้กับเรื่องเล่า จนสร้างปรากฎการณ์ความน่าสนใจ น่าติดตามกับการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์รูปแบบใหม่
ดร. วิทย์ เล่าถึง จุดเปลี่ยนสำคัญของยุโรป คือ การปฏิวัติของอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมมากมาย กลุ่มธุรกิจต่างๆ เจริญเติบโต ผ่านร้อนผ่านหนาวจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน และมีรูปแบบการบริหารธุรกิจที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น เครือ LVHM ของ Bernard Arnault มหาเศรษฐีและเป็นเจ้าของอาณาจักรของแบรนด์ลักชูรีระดับโลก ปัจจุบัน เขาได้แบ่งบทบาทหน้าที่การบริหารธุรกิจให้กับลูกทั้ง 5 คนอย่างชัดเจน
ในขณะที่ธุรกิจบางแห่ง ทายาทมีความรักและความผูกพันกับธุรกิจที่บรรพบุรุษสร้างตำนานไว้ โดยยังคงเป็นเจ้าของกิจการและสามารถสืบทอดกิจการส่งต่อมาหลายรุ่น ตัวอย่างเด่นชัดคือ ‘Hermès’ เป็นธุรกิจครอบครัวที่ผ่านการบริหารงานจากลูกหลานมาแล้วถึง 6 รุ่น จากจุดเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1837 เป็นธุรกิจผลิตอานม้าและบังเหียน ที่ได้รับความนิยมในหมู่ราชวงศ์และชนชั้นสูงในฝรั่งเศส ส่วนแบรนด์ CHANEL ยังคงธุรกิจในรูปแบบบริษัทเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในเครือแบรนด์แฟชั่นนับตั้งแต่ Coco Chanel ก่อตั้งร่วมกับ Pierre Wertheimer ซึ่งเป็นปู่ของ Gerard Wertheimer ทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัวและเขายังคงสถานะเป็นเจ้าของแบรนด์ CHANEL ในปัจจุบัน ในขณะที่แบรนด์นาฬิกาหรู Panerai ที่มีจุดเริ่มต้นในเมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี ผลิตนาฬิกาให้กับกองทัพเรือ ได้เปลี่ยนผ่านธุรกิจมาอยู่ในการบริหารของกลุ่ม Richemont สวิตเซอร์แลนด์
ดร.วิทย์ ได้เล่าถึงความน่าสนใจของธุรกิจครอบครัวในอิตาลีว่า ธุรกิจครอบครัวในอิตาลีส่วนใหญ่ มีความรักในธุรกิจที่บรรพบุรุษสร้างและสืบทอดต่อกันมา และไม่ต้องการให้มีผู้ถือหุ้นเข้ามาเกี่ยวข้อง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ แบรนด์เฟอร์นิเจอร์หรู Molteni ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจตั้งแต่รุ่นคุณปู่ Angelo และ Giuseppina Molteni ในปี ค.ศ. 1934 จนมาถึงทายาทรุ่นที่ 3 ในปัจจุบันที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์งานฝีมือประณีตของบรรพบุรุษเอาไว้ เช่นเดียวกับแบรนด์เฟอร์นิเจอร์หรู GECCI ซึ่งดำเนินธุรกิจมาถึงรุ่นที่ 3 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานมาสเตอร์พีซของต้นตระกูลผสมผสานกับความมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น ส่วนแบรนด์ยางรถยนต์ Pirelli ก่อตั้งขึ้นในเมืองมิลานในปี ค.ศ.1872 ถือว่าเป็นหนึ่งในแบรนด์ยางที่เก่าแก่ที่สุดของโลก และปัจจุบันเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ในขณะที่แบรนด์อุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ติดอันดับโลกในปัจจุบัน มีหลายแบรนด์ที่ขยายอาณาจักรธุรกิจอย่างก้าวกระโดด โดยฝีมือการบริหารของทายาทรุ่นปัจจุบัน เช่น Roche บริษัทผลิตยา เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีชีวภาพใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ และมีขนาดธุรกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก จากผู้ก่อตั้ง Fritz Hoffmann-La Roche มาสู่การบริหารในยุคของทายาทรุ่นที่ 5 ในปัจจุบัน
กลุ่มบริษัท Boehringer Ingelheim เยอรมัน ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1885 โดย Albert Boehringer สามารถขยายธุรกิจจนก้าวขึ้นสู่ 1 ใน 20 อันดับของอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ระดับโลก ยืนหยัดธุรกิจมาได้กว่า 130 ปี เป็นธุรกิจเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยธุรกิจยังคงอยู่ภายใต้การบริหารของครอบครัว Boehringer Von Baumbach
ส่วนแบรนด์ Tetra Pak ของสวีเดนที่เริ่มต้นธุรกิจโดย Ruben Rausing คิดค้นนวัตกรรมในกระบวนการผลิต การบรรจุ และบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มและขยายธุรกิจจนก้าวสู่เจนเนอเรชันที่ 4
การส่งต่อธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น จึงมีมิติมากมาย ทั้งการวางแผนส่งต่อให้กับทายาทธุรกิจ ความพยายามมุ่งมั่น เพื่อสานต่อความมั่นคงให้กับธุรกิจ ในขณะเดียวกัน การดำเนินการเหล่านั้นต้องได้รับแรงสนับสนุนทางการเงิน รวมถึงการวางแผนลงทุนเพื่อส่งต่อความมั่งคั่งที่ยั่งยืน
ความรักและความภูมิใจในธุรกิจของครอบครัว “สุโกศล”
ไฮไลท์ที่สำคัญในงานนี้คือ ช่วงการสนทนา Passion Driven Succession ซึ่งได้รับเกียรติจากคุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี และคุณกฤษดา สุโกศล แคลปป์ ร่วมพูดคุยถึง เรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของครอบครัวสุโกศล ในการบริหารธุรกิจโรงแรม ผสานกันกับ Passion ของสมาชิกครอบครัวที่มีจุดเด่นแตกต่างกัน และประสบความสำเร็จได้รับรางวัลระดับโลกมากมาย
โดยล่าสุด โรงแรม THE SIAM ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ในโรงแรมที่ดีที่สุด 50 แห่งทั่วโลก ประจำปี 2024 ของ 'THE WORLD’S 50 BEST HOTELS 2024' และเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และรางวัลกุญแจมิชลิน 3 ดอก ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของ Michelin Guide เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จระดับโลกจากการบริหารของครอบครัวสุโกศล
คุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี กล่าวว่า เครือโรงแรมสุโกศล มีโรงแรม 5 แห่ง คือ THE SUKOSOL BANGKOK, THE SIAM, SIAM BAYSHORE PATTAYA, THE BAYVIEW PATTAYA , และ WAVE โดยเตรียมแผนที่จะเปิดโรงแรม THE SIAM ที่เชียงใหม่เร็วๆ นี้ โดยปรัชญาบริหารงานโรงแรมคือ We Serve from the Heart ถึงแม้โรงแรมบางแห่งจะมีอายุ 50 ปีแล้ว แต่เป็นโรงแรมที่มีการปรับปรุง พัฒนาตลอด สิ่งที่เป็นจุดแข็งของเครือโรงแรมสุโกศลคือ บริการของพนักงาน ทีมงานของโรงแรมทั้งหมด ต้องสัมผัสใจลูกค้าให้ได้ เพื่อให้ลูกค้าประทับใจและกลับมาใช้บริการอีก
“Passion ไม่ได้เกิดข้ามคืน ต้องใช้เวลา โดยช่วงแรกๆ ดิฉันไม่ได้อยากทำธุรกิจ อยากเป็นนักร้องมากกว่า แต่เนื่องจากตอนนั้นคุณแม่ไม่มีใครช่วย จึงได้ร่วมกันบริหารงานกับคุณแม่ ผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาหลายเหตุการณ์ และได้เห็นผลลัพธ์ของพลังความทุ่มเท และสามารถผ่านวิกฤตร่วมกันมากมาย และเมื่อพบกับความสำเร็จ จึงเริ่มเกิดความภาคภูมิใจ เกิด Passion เราไม่ได้ทำในสิ่งที่เรารัก แต่เรารักในสิ่งที่เราทำได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา”
สำหรับการบริหารงานภายในครอบครัว คุณมาริสา เล่าว่า คุณแม่คือคนสำคัญที่คอยมอบโอกาสให้ลูก ๆ ทำในสิ่งที่ตนเองถนัด พี่น้องทั้ง 4 คน มีความสามารถที่ไม่ทับซ้อนกัน บทบาทในการทำงานจึงชัดเจน ต่างคนต่างอยากทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับทุกโปรเจกต์ ที่สำคัญ คือ ความปรองดอง ซึ่งต้องให้เครดิตคุณพ่อคุณแม่ที่สอนให้พี่น้องรักกัน ให้อภัยกันเสมอ คุณแม่ปฏิบัติกับลูกทุกคนเท่าเทียมกัน เวลาคุยเรื่องงานแค่ 5% ที่เหลือคือคุยเรื่องอื่น ลูกมีความสุขที่จะใช้เวลาอยู่ด้วยกัน มีทริปเที่ยวประจำปีทั้งครอบครัว สร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิด
ส่วนคุณกฤษดา สุโกศล แคลปป์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นสร้างโรงแรม THE SIAM ว่า ต้องการสร้างความแปลกใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่เหมือนใคร มีจุดเด่นเรื่องการออกแบบที่เป็น Passion ของตนเอง
“การรักษา Passion ได้ ต้องมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน มี Passion ในหลายบทบาท ผมชอบร้องเพลง ชอบดีไซน์ และเอามาใช้กับธุรกิจด้วย ความสำเร็จของโรงแรม THE SIAM ในวันที่ผมไปแชร์มุมมองการพัฒนาโรงแรมและรับรางวัลที่อังกฤษ และผมได้ถามผู้จัดงานถึงเหตุผลในการเชิญผมขึ้นพูดบนเวที ผู้จัดบอกว่า ความเป็นอาร์ทติสที่มีความสำเร็จของธุรกิจด้วย ผมคิดว่านั่นคือมุมธุรกิจของผม”
คุณมาริสา ทิ้งท้ายถึงมุมมองการบริหารธุรกิจครอบครัวว่า “ธุรกิจครอบครัวไม่มีเส้นแบ่งระหว่างเรื่องส่วนตัวกับงาน ธุรกิจต้องเกิดจากความรัก และครอบครัวรักกัน ธุรกิจก็จะงอกงาม เราเกิดจากการแก้ไขปัญหาร่วมกัน การยอมรับ การเข้าใจซึ่งกันและกันว่าอะไรคือจุดแข็งจุดอ่อน องค์กรเข้มแข็ง มีวัฒนธรรมองค์กร ธุรกิจมีกำไร เติบโตอย่างยั่งยืน เราหาความสุขจากงานที่ทำ ต้องมีความสุข ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”
แง่มุมข้อคิดต่างๆ ของครอบครัว “สุโกศล” ที่ทุกคนบ่มเพาะความสัมพันธ์กันมาชั่วชีวิต จนเกิดเป็นความไว้ใจ สิ่งที่มีอยู่เต็มหัวใจในวันนี้ของครอบครัวสุโกศลคือ ความรักและความภูมิใจในธุรกิจของครอบครัว สวมหัวใจของนักบริหาร ผสานเข้ากับความเป็นศิลปิน เป็น "ครอบครัวนักธุรกิจ" ที่ประสบความสำเร็จ