มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่าง มูลนิธิฯ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 ณ ห้องประชุมมหินทรเดชานุวัตน์ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภา) ยามยาก สภากาชาดไทย กรุงเทพฯ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษา ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่างมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ สอศ. โดยมี นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นผู้ร่วมลงนาม
สำหรับบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยเรื่องร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและภัยพิบัติที่ร้ายแรง โดยการร่วมกันของทั้ง 2 หน่วยงาน ในการระดมองค์ความรู้ นวัตกรรม กำลังแรงกาย ทุนทรัพย์ และจิตสาธารณะ ร่วมกันพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิต และร่วมกันทำงานวิจัย สร้างสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เพื่อช่วยเหลือ และสนับสนุนภารกิจด้านการฟื้นฟู ผู้ประสบอุทกภัยและภัยพิบัติที่รุนแรง อย่างครบวงจร
มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จัดตั้งตามพระดำริของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงดำรงตำแหน่ง องค์นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงดำรงตำแหน่ง องค์ประธานกรรมการมูลนิธิฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและเชื่อมโยงให้ภาครัฐ เอกชน และชุมชน ร่วมกันเกื้อหนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามทุกข์ยากจากอุทกภัยที่รุนแรง เพื่อบูรณาการความช่วยเหลือในเรื่องอุทกภัยอย่างครบวงจรให้ประชาชนสามารถกลับมาดำรงชีวิตอย่างปกติได้อย่างยั่งยืน โดยมูลนิธิ ฯ ได้ดำเนินงานตาม พันธกิจ 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการเฝ้าระวังก่อนเกิดอุทกภัย การบรรเทาทุกข์ระหว่างเกิดอุทกภัย และการฟื้นฟูหลังเกิดอุทกภัย ร่วมบูรณาการงานกับ สอศ. ซึ่งเป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพ เพื่อผลิตบุคลากรในระดับช่างฝีมือ ช่างเทคนิค และนักเทคโนโลยี ที่ผ่านมา สอศ. ให้การสนับสนุนมูลนิธิ ฯ ผ่านโครงการ “Fix It Center” ในการซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือประกอบอาชีพ และโครงการระยะยาว เช่น โครงการ “ฟื้นฟูแหล่งน้ำ เพื่อคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างยั่งยืน” โดย สอศ. สนับสนุนบุคลากร ร่วมปรับปรุง ซ่อมแซม และ บำรุงรักษา ฝายชุมชน เพิ่มประสิทธิภาพการชะลอน้ำ การดักจับตะกอน และเป็นแหล่งน้ำอุปโภค บริโภคของชุมชน เป็นต้น