สจล. – ซีพีเอฟ บูรณาการความร่วมมือพัฒนาคนรุ่นใหม่ สร้างนวัตกรรมรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหาร
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MoU) บูรณาการการศึกษารูปแบบใหม่ “เรียนร่วมกับการทำงาน” ผ่านโครงการ Co-Creation เปิดโอกาสนักศึกษาได้นำทักษะความรู้ด้าน STEM (Science Technology Engineering Mathematics) และ ดิจิทัล ควบคู่กับความเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ ยกระดับศักยภาพนักศึกษา สร้างสรรค์นวัตกรรมรองรับความต้องการอุตสาหกรรมอาหาร และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
การลงนามในครั้งนี้ เป็นการผนึกกำลังระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจพัฒนาการศึกษาของเยาวชนไทย “ร่วมสร้างคน สร้างอนาคต สร้างเครือข่าย” ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและตลาดแรงงาน โดยซีพีเอฟมีส่วนร่วมเพื่อผลิตบัณฑิตวิศวกรคุณภาพที่มีแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurial mindset) นอกจากการเรียนภาคทฤษฎีที่มหาวิทยาลัยแล้ว นักศึกษามีโอกาสได้ทำงานและเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงจากผู้เชี่ยวชาญของซีพีเอฟ โดยนำร่องความร่วมมือด้านวิศวกรรมศาสตร์ ใน 4 หลักสูตรสาขาวิชา ได้แก่ วิศวกรรมการผลิตเชิงบูรณาการ วิศวกรรมระบบไอทีและสารสนเทศ วิศวกรรมอุตสาหกรรมเกษตร วิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. กล่าวว่า สจล.และซีพี-ซีพีเอฟ มีความร่วมมือด้านการศึกษาและวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง และความร่วมมือระหว่าง สจล. และซีพีเอฟ ในครั้งนี้ เป็นการเชื่อมโยงศักยภาพของภาคการศึกษากับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างนักศึกษาที่ความสามารถที่รอบด้าน สร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์และตอบโจทย์ภาคการเกษตรและอาหาร โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ทำงานจริงตั้งแต่ก่อนจบการศึกษา เสริมสร้างความเป็นผู้ประกอบการจากการได้นำความรู้มาลงมือทำงานหรือแก้ปัญหาจริง ผนวกกับการได้เรียนรู้โดยตรงกับผู้เชี่ยวชาญของซีพีเอฟ สนับสนุนให้เด็กมีทักษะความพร้อมในการทำงานทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนขีดความสามาถทางการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน
“ความร่วมมือครั้งนี้ช่วยผลักดันให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ทำงานจริงในระหว่างเรียน ท้าทายให้นักศึกษารุ่นใหม่ได้นำความรู้มาใช้ลงมือทำโครงการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตอบโจทย์และปัญหาของธุรกิจได้จริง และสอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่การเรียนภาคทฤษฎีอย่างเดียวไม่เพียงพอ” รศ.ดร.คมสัน มาลีสี กล่าว
ด้าน นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ความร่วมมือกับ สจล. สถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย เป็นการผนึกพลังกันสร้างคน สร้างอนาคต และสร้างเครือข่าย ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยซีพีเอฟเข้ามาร่วมบูรณาการองค์ความรู้และเน้นการปฏิบัติจริงมากขึ้น สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีทักษะตรงตามความต้องการของธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร โดยเฉพาะแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Mindset) เพื่อให้วิศวกรรุ่นใหม่สามารถดำเนินอาชีพในศตวรรษที่ 21 และมีความสามารถเทียบเท่ามาตรฐานระดับสากลได้ เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษามีความพร้อมทำงานร่วมกับบริษัทได้ทันที ซึ่งองค์กรต้องการเห็นความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมจากคนรุ่นใหม่ ร่วมขับเคลื่อนซีพีเอฟเติบโตสู่การ เป็น “ครัวของโลก” ที่ยั่งยืน
“ซีพี-ซีพีเอฟ มีความเชื่อมั่นในคนรุ่นใหม่มีความคิดก้าวหน้า และทักษะด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร ความร่วมมือกับสจล. เป็นการเปิดเวทีให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการลงมือทำงานจริง สนับสนุนให้นักศึกษาได้แสดงความรู้ความสามารถด้าน STEM และเทคโนโลยี เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและสิ่งใหม่ๆ ให้กับองค์กร ได้โดยไม่ต้องรอเรียนจบ นับเป็นการสร้างทรัพยากรบุคคลรุ่นใหม่ที่มีขีดความสามารถสนับสนุนการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับเป้าหมายและพันธกิจของซีพีเอฟ และหลักปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืนของท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ที่มุ่งดำเนินธุรกิจที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และองค์กรก็จะได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนในซีพีเอฟยึดถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง” นายประสิทธิ์กล่าว
นอกจากนั้น ซีพีเอฟ ยังได้ร่วมมือกับ สจล. จัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการศึกษาและสร้างโอกาสให้กับนักศึกษาของสจล. อย่างต่อเนื่อง อาทิ กิจกรรม CPF Open House 2024 ซึ่งสนับสนุนให้นักศึกษาได้เรียนรู้ธุรกิจซีพีเอฟ กิจกรรม CPF Build Young Business Entrepreneur Workshop หรือโครงการสร้างเถ้าแก่น้อยในรั้วมหาวิทยาลัย สร้างทักษะและแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โครงการ KOSEN หรือสถาบันโคเซ็นแห่ง สจล. พัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้มีความรู้และศักยภาพสูง เพื่อช่วยส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยกิจกรรมต่างๆ นำไปสู่ความร่วมมือทางด้านวิชาการ งานวิจัยที่ต่อยอดองค์ความรู้และนวัตกรรมระหว่างภาคธุรกิจและภาคการศึกษา ยกระดับมาตรฐานการศึกษาและการวิจัยของประเทศไทยเพื่อเตรียมพร้อมต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกปัจจุบัน