10 พ.ค. วันป่าชายเลนแห่งชาติ "ซีพีเอฟ"ร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ
ป่าชายเลน เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญ สร้างประโยชน์ต่อระบบนิเวศของพื้นที่ชายฝั่งทะเล สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าพื้นที่ป่าปกติอีกทั้งยังเป็นต้นทางของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร
ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลน "บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ" มุ่งมั่นสานต่อความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ภาคประชาสังคม ชุมชนในพื้นที่ พนักงานในองค์กร ร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนให้กับประเทศ เดินหน้าสร้างสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ซีพีเอฟดำเนินโครงการ "ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน"อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่เพิ่มเติมจำนวน 4,000 ไร่ คิดเป็นจำนวนต้นไม้ที่ปลูกมากกว่า 1.6 ล้านต้น ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 จังหวัด คือ ระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา และพังงา
ปัจจุบันมีเป้าหมายอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติม ในพื้นที่ตำบลบางหญ้าแพรก จังหวัดสมุทรสาคร ตำบลปากน้ำประแส จ.ระยอง และต.ท่าพริก จ.ตราด นอกจากสนับสนุนยุทธศาสตร์ประเทศไทยเพิ่มผืนป่าชายเลนแล้ว ยังสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ(SDGs) ข้อ 13 Climate Change รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น ข้อ14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน และข้อ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และยังตอบโจทย์กลยุทธ์ความยั่งยืนของซีพีเอฟ ที่มุ่งมั่นมีส่วนร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ
ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ"ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน" ไม่ใช่แค่เพียงจำนวนพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้น แต่ส่งผลเชิงบวก ทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนที่ช่วยรักษาระบบนิเวศชายฝั่ง ด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมการสร้างอาชีพ สนับสนุนการรวมตัวที่เข้มแข็งของชุมชนพัฒนาพื้นที่สู่การเป็นวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนที่มีอัตลักษณ์ของตนเอง อาทิ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลปากน้ำประแส จังหวัดระยอง วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง ตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชน ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร
พร้อมกันนี้ ซีพีเอฟ ปลูกฝังความตระหนักรู้สู่เด็กและเยาวชนในสถานศึกษา มีส่วนร่วมดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการทำโครงการ "ปันรู้ ปลูกรักษ์" นำนักเรียนลงพื้นที่และลงมือปฏิบัติจริง สร้างผู้นำหรือตัวแทนเยาวชนที่สามารถสื่อสาร คิดสร้างสรรค์และต่อยอดในการร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต่อไป
10 พฤษภาคมของทุกปี ตรงกับ "วันป่าชายเลนแห่งชาติ" ซึ่งในปี 2567 นี้ ภาครัฐได้รณรงค์ให้ภาคเอกชนและชุมชน มีส่วนร่วมและมีบทบาทในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าชายเลน เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการจัดการขยะ ลดผลกระทบจากขยะทะเล ตลอดจนส่งเสริมการรวมตัวของชุมชน ให้มีอาชีพและรายได้ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการปกป้อง ดูแล รักษา ปลูกและฟื้นฟู ทรัพยากรป่าชายเลน กลับสู่ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ซี่งซีพีเอฟเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุน เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไปด้วยกัน