เปิดแนวคิดธุรกิจ “แน็คเก็ต-โคฟี่” แบรนด์ SME น่าจับตาในร้านเซเว่นฯ ผสานเอกลักษณ์ท้องถิ่น-เติบโตเคียงข้างชุมชน ก้าวสู่การเป็นหนึ่งใน Soft Power ไทย
การนำซูเปอร์สตาร์ระดับโลก มาโปรโมทสินค้า SME อาจไม่ใช่เรื่องที่เห็นได้บ่อยนัก การดึง “แจ็คสัน หวัง” และ “เตนล์-ชิตพล ลี้พรชัยกุล” 2 ซูเปอร์สตาร์ระดับโลก มาร่วมกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ชวนให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ลิ้มลองสินค้า SME ภายใต้แคมเปญ “เสน่ห์ความเป็นไทยใคร ๆ ก็หลงรัก” จึงถือเป็นอีกหนึ่ง “บิ๊กมูฟ” ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ ในการสนับสนุนกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากอย่าง SME ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน พร้อมทั้งช่วยผลักดันให้สินค้าอาหารของ SME ไทยก้าวสู่การเป็น Soft Power
ในปีนี้มีสินค้า SME เข้าร่วมแคมเปญหลายแบรนด์ หลายรายการ บางแบรนด์ไม่ได้โดดเด่นแค่เพียงคุณภาพและรสชาติของสินค้า แต่โดดเด่นตั้งแต่เบื้องหลังกระบวนการผลิตที่สร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน เกษตรกร และซัพพลายเออร์ เช่น แบรนด์ แน็คเก็ต (Nacket) และ โคฟี่ (Cofe)
“แน็คเก็ต” ดึงของดีพื้นถิ่น สู่สายตาชาวโลก กระจายการเติบโตสู่ชุมชน
หากเอ่ยชื่อแบรนด์ “แน็คเก็ต” เชื่อว่าสาวกขนมขบเคี้ยวและอาหารทานเล่นแบบไทยสไตล์ จะรู้จักขนมปังชีสไส้สับปะรด ขนมปั้นสิบ และอีกหลากหลายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์นี้เป็นอย่างดี เพราะแบรนด์นี้ไม่ได้มีดีแค่รสชาติ สินค้าแต่ละตัวแฝงไปด้วยอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ที่เจ้าของแบรนด์ดึงมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้า เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้า จนสามารถครองใจผู้บริโภคได้ยาวนานกว่าทศวรรษ
นน-พัทธนันท์ แสงสุขเกษมศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทันน่า ฟู๊ดส์ จำกัด เจ้าของอาหารทานเล่นแบรนด์ “แน็คเก็ต” (Nacket) เล่าย้อนความให้ฟังว่า เส้นทางการเติบโตในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา เริ่มต้นจากการทำการตลาดแบบฝากจำหน่ายตามร้านกาแฟ ร้านขายขนมทั่วไป จากนั้นจึงขยายตลาดด้วยการนำสินค้าไปเสนอให้กับทีมเซเว่น อีเลฟเว่น และได้รับโอกาสในการจำหน่าย พร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำอย่างดีในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสร้างมาตรฐานการผลิต การพัฒนาแพ็กเก็จจิ้ง รวมถึงการเติบโตเคียงข้างชุมชน
“เซเว่น อีเลฟเว่น มุ่งให้การสนับสนุน SME ที่เน้นใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก ถือเป็นการช่วยกระจายรายได้กลับสู่ชุมชนและท้องถิ่น เพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืนให้กับระบบฐานรากเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งตรงกับโจทย์การทำงานของบริษัทตั้งแต่แรกคือ สินค้าของบริษัทจะเน้นความเป็นไทย เน้นการจ้างงานในท้องถิ่น โดยการนำขนมที่มีชื่อ แต่หาซื้อได้ยากในแต่ละพื้นที่ สู่มือผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น พร้อมๆ กับการเติบโตเคียงข้างชุมชน บริษัทจึงมองหาพาร์ทเนอร์ที่ทำสินค้าท้องถิ่นอยู่แล้ว และมีศักยภาพสามารถยกระดับได้ มาร่วมพัฒนาสินค้าตั้งแต่วันแรกของการเริ่มต้นธุรกิจจนถึงปัจจุบัน”
นน กล่าวเพิ่มเติมว่า การได้รับโอกาสจากเซเว่น อีเลฟเว่น และการให้โอกาสให้พันธมิตรชุมชนท้องถิ่น ถือเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของบริษัท โดยตั้งแต่เดือนแรกของการจำหน่ายขนมปังชีสไส้สับปะรดที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น บริษัทมียอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดด จากหลักหมื่นบาทต่อเดือน เป็นกว่า 400,000 บาทต่อเดือน เมื่อจะพัฒนาสินค้าตัวใหม่ บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับพันธมิตรชุมชน จึงเลือกพัฒนาขนมไทยอย่าง “ขนมปั้นสิบ” โดยใช้แป้งทำขนม ผสมกับข้าวสังข์หยด ข้าวพันธุ์พื้นเมืองของ จ.พัทลุง แทนการใช้ข้าวสาลี เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น วิตามิน B สูงกว่า ช่วยส่งเสริมเสน่ห์และเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์
ปัจจุบัน แบรนด์ “แน็คเก็ต” ยังคงยึดหลักเติบโตควบคู่กับการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น โดยมีสินค้าที่จำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่นทั้งสิ้น 35 รายการ ครอบคลุม 6 กลุ่มได้แก่ 1.กลุ่มบิสกิต/แครกเกอร์ ไส้สับปะรด ไส้สับปะรดผสมสตรอเบอร์รี ไส้สตรอเบอร์รี โดยใช้สับปะรดของดีขึ้นชื่อ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีรสหวาน หอม ฉ่ำ ไม่มีเสี้ยน และใช้สตรอเบอร์รีจากทางภาคเหนือ 2.กลุ่มผลไม้กรอบ ได้แก่ กล้วย มัน เผือก ฟักทอง เป็นวัตถุดิบจาก จ.สุโขทัย 3.กลุ่มปั้นสิบ 4.กลุ่มผลไม้ทอดสุญญากาศ โดยร่วมกับ จ.ชุมพร พัฒนากล้วยหอมทองกรอบแท่ง กล้วยหอมทองกรอบ กล้วยเล็บมือนางกรอบ 5.อาหารทะเล พัฒนาร่วมกับชุมชนใน จ.ตราด ปลากรอบ กุ้งกรอบ ปูกรอบ และ 6.กลุ่มขนมไทยประยุกต์ เช่น ขนมผิง คุกกี้ ข้าวพองกรอบ โดยใช้ข้าวจาก จ.เชียงราย ในแต่ละปีบริษัทรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรในแต่ละภูมิภาคปีละมากกว่า 100 ตัน ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นบริษัทเองก็มียอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มียอดขายอยู่ที่กว่า 80 ล้านบาท
“โคฟี่” โตลำพังไม่ยั่งยืน เคียงข้างเกษตรกรไทยกว่า 40 ปี
อีกแบรนด์หนึ่งที่โดดเด่นตั้งแต่เบื้องหลังกระบวนการผลิต คือแบรนด์ที่ครองใจผู้บริโภคมายาวนานกว่า 40 ปีอย่าง “โคฟี่” แม้เส้นทางการเติบโตจะเริ่มต้นขึ้นจากสินค้าสร้างชื่ออย่าง “กาแฟโอเลี้ยง” ในฐานะเจ้าแรกของประเทศที่นำเมล็ดกาแฟมาแปรรูปเป็นน้ำโอเลี้ยงพร้อมดื่ม แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีการพัฒนาสินค้าในกลุ่มน้ำผลไม้และน้ำสมุนไพรขึ้นมา ได้แก่ น้ำบ๊วย น้ำมะขาม น้ำกระเจี๊ยบ น้ำอัญชัน น้ำเก็กฮวย น้ำมะตูม รวมถึงผลิตภัณฑ์ตัวท็อปอย่าง “น้ำตาลสด” ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนร่วมกับเกษตรกร
เล็ก-สุภาณี กิจภิญโญชัย ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท โคฟี่ จำกัด เล่าว่า บริษัทเริ่มทำน้ำตาลสดเมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมา โดยใช้น้ำหวานจากจั่นมะพร้าว (ดอกมะพร้าว) จากพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวชั้นดี อย่าง จ.สมุทรสงครามและ จ.สมุทรสาคร ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองร้อน น้ำตาลสดให้ความสดชื่น สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในทุกช่วงอายุ มีอัตราการเติบโตของยอดขายต่อเนื่อง โดยในปี 2566 เติบโตสูงถึง 35% จากปี 2565 แตกต่างจากกลุ่มกาแฟโอเลี้ยง ที่ฐานยอดขายเติบโตเฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่และวัยทำงาน
“ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ก็ใช้วัตถุดิบจากแหล่งเพาะปลูกขึ้นชื่อของประเทศ โดยในแต่ละปีบริษัทรับซื้อสินค้าเกษตรทุกประเภท อาทิ น้ำตาลสดจากจั่นมะพร้าว เมล็ดกาแฟ บ๊วย กระเจี๊ยบ และอื่นๆ รวมอยู่ที่ประมาณ 2,000 ตัน เรียกได้ว่าบริษัทเติบโตเคียงข้างเกษตรกรไทยมาตลอด และการเติบโตนี้เป็นการเติบโตที่ช่วยสร้างความแข็งแกร่งและยั่งยืนให้กับระบบนิเวศ ตั้งแต่แหล่งผลิตวัตถุดิบต้นทาง”
เล็ก กล่าวทิ้งท้ายว่า การได้ร่วมแคมเปญ “เสน่ห์ความเป็นไทยใคร ๆ ก็หลงรัก” ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่ทั้งบริษัทและเกษตรกรได้รับ เพราะสินค้าไทยที่ผลิตโดยบริษัทของคนไทย 100% จะได้รับการเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักต่อสายตาชาวโลกในฐานะหนึ่งใน Soft Power ของประเทศที่ต้องมาลิ้มลอง