การทุจริตจากการรับสินบน หรือการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นรูปแบบหนึ่งของการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และผิดจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดความเสียหายต่อการบริหารงานและภาพลักษณ์ขององค์กร ดังนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าพนักงานของรัฐ เพื่อมิให้เกิดการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมหรือผลประโยชน์ทับซ้อนและเป็นกฎหมายที่ป้องปรามการกระทำความผิดในเรื่องของ “สินบน” และลักษณะที่เข้าข่ายการรับสินบนเป็นอย่างไรบ้าง สรุปได้ดังนี้
1. “เงินแป๊ะเจี๊ยะ” หมายถึง กินเปล่า หรือเงินกินเปล่า เงินแป๊ะเจี๊ยะ มักใช้ในการให้สินบนในวงการการศึกษา เช่น การให้เงินเพื่อฝากบุตรหลานเข้าโรงเรียนดังหรือได้เข้าเรียนในห้องเก่ง ห้องพิเศษ
2. “เงินใต้โต๊ะ” หมายถึง เรียกเงินที่แอบให้กันโดยมิชอบ เพื่อจูงใจหรือตอบแทนเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการอนุมัติ อนุญาต หรือการเร่งรัดในการดำเนินงาน เช่น จ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อได้รับการอนุญาตก่อสร้างอาคาร จ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อรับการอนุมัติงานจ้าง
3. “ส่วย” เดิม หมายถึง รายได้แผ่นดินประเภทหนึ่ง เรียกเก็บเป็นสิ่งของหรือเงินตราแทนการเข้าเดือนหรือการรับราชการ แต่ปัจจุบัน“ส่วย” เกิดจากการสมัครใจตกลงกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจผิดกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อปล่อยให้ผู้ประกอบธุรกิจผิดกฎหมายสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้หรือได้รับความคุ้มครองหรือได้รับการอำนวยความสะดวก เช่น การเปิดบ่อนการพนันผิดกฎหมาย การค้าประเวณี หรือการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ เป็นต้น และมีการกำหนดระยะอย่างแน่นอน เช่น เป็นรายสัปดาห์ หรือรายเดือน เป็นต้น
4. “สินน้ำใจ” มีความหมายว่า “เงินหรือทรัพย์ที่ให้เป็นรางวัล” คำว่า “สินน้ำใจ” นิยมใช้สำหรับการให้สิ่งของเพื่อเป็นตอบแทนที่บุคคลได้กระทำการให้ แต่ในบางกรณีการให้สินน้ำใจก็อาจเป็นสินบนได้ เช่น ปลัดอำเภอประจำตำบลรับผ้าไว้เป็นสินน้ำใจ ไม่จับกุมผู้กระทำผิดด ฐานมีผ้าผิดบัญชีที่แจ้งปริมาณไว้มีผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 137 เพราะเป็นการละเว้นหน้าที่ เพื่อให้คุณแก่ผู้กระทำผิด แม้จำเลยจะมิได้มีหน้าที่ตรวจจำนวนผ้าที่แจ้งปริมาณก็ดี แต่จำเลยมีอำนาจและหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่
5. “ค่าดำเนินการ” หมายถึง การเรียก “สินบน” ในกรณีที่เป็นการทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดแก่เจ้าพนักงานของรัฐ เพื่อให้เจ้าพนักของรัฐดำเนินการในการปฏิบัติหน้าที่ หรือเป็นการเร่งงรัดเจ้าพนักงานของรัฐดำเนินการในหน้าที่ ส่วนใหญ่มักปรากฏในกรณีเป็นการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานรัฐในการขออนุมัติ อนุญาต เพื่อเร่งรัดกระบวนการพิจารณาของเจ้าพนักงานของรัฐ หรือให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้ดุลพินิจเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงการขอรับการบริการหรือการอำนวยความสะดวกจากหน่วยงานของรัฐด้วย
6. “ค่าอำนวยความสะดวก” หมายถึง ค่าใช้จ่ายจำนวนเล็กน้อยที่จ่ายแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างไม่เป็นทางการ และเป็นการให้เพียงเพื่อให้มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะดำเนินการตามกระบวนการ หรือให้ดำเนินการรวดเร็วขึ้น โดยกระบวนการนั้นไม่ต้องอาศัยดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ และเป็นการกระทำอันชอบด้วยหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น รวมทั้งเป็นสิทธิที่นิติบุคคลพึงจะได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว เช่น การขอใบอนุญาต การขอหนังสือรับรอง การได้รับการบริการสาธารณะ เป็นต้น
7. “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่เรียกเงินจากประชาชนเกินค่าธรรมเนียมเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเป็นค่าตอบแทนจากการทำหน้าที่ เช่น คดี “...โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมซ่อมบำรุงและฝ่ายวิศวกรรมระบบทำความเย็น โจทก์เรียกร้องค่าน้ำร้อนน้ำชาเป็นการตอบแทนจากนายอาลี ผู้ประมูลงานก่อสร้างอาคารห้องเย็นของจำเลย แต่นายอาลีไม่จ่ายเงินให้โจทก์ ถือว่าโจทก์ประพฤติตนไม่ซื่อตรงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม...”
8. “ค่าหัวคิว” หรือ “กินหัวคิว” หมายถึง การเรียกร้องเอาเงินหรือผลประโยชน์จากผู้ดำเนินกิจกรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้มีอิทธิพลหรือผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลในเรื่องนั้น เพื่อแลกกับความสะดวกหรือสิทธิในการดำเนินกิจกรรมก่อนผู้อื่น เช่น คนที่กู้เงินจากกองทุนถูกหักค่าหัวคิวไปคนละ 15 เปอร์เซ็นต์
9. “เงินทอน” มีความหมายว่า เงินส่วนที่เกินราคาสิ่งของที่จ่ายคืนให้แก่ผู้จ่ายเงิน ซึ่งมักจะใช้ในการซื้อขายสินค้า แต่ “เงินทอน” ในด้านของสินบนจะเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐเรียกเงินส่วนต่างจากการที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นได้ดำเนินการในการจัดจัดสรรงบประมาณหรือสิทธิประโยชน์จากรัฐให้กับบุคคลใดหรือหน่วยงานใด เมื่อบุคคลใดหรือหน่วยงานใดได้รับงบประมาณจากรัฐไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนหรือเงินสนับสนุนก็จะต้องแบ่งส่วนที่ได้รับให้แก่เจ้าพนักงานของรัฐที่อนุมัติ อนุญาตหรือดำเนินการให้ซึ่งถือเป็นเงินทอน หรืออีกกรณีหนึ่ง คือ กรณีที่หน่วยงานของรัฐทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง และเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ขอรับเอาส่วนแบ่งจากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง กรณีเช่นนี้ก็จะใช้เรียกเป็น “เงินทอน” หรือที่ปรากฏตามสื่อ เช่น กรณีเงินทอนวัด
10. “กินตามน้ำ” มีความหมายว่า การรับของสมนาคุณที่เขาเอามาให้โดยไม่ได้เรียกร้อง (มักใช้แก่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ) “กินตามน้ำ” ในด้านของสินบน เปรียบเปรยการปฏิบัติหน้าที่ของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจ ให้คุณและโทษกับบุคคลอันเป็นการกระทำในลักษณะฉ้อราษฎรบังหลวงหรือคอร์รัปชัน หรือที่เรียกว่า “กินสินบาท คาดสินบน” เช่น เขาได้ทำตามอย่างของผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็น “เจ้านาย” หรือทำตามอย่างของคณะบุคคล ส่วนใหญ่ที่ร่วมงานกัน ก็เรียกว่า “กินตามน้ำ” ทั้งนี้ เชื่อว่าจะได้รับการปกป้องคุ้มครองจาก “เจ้านาย” หรือเพื่อนร่วมงานที่กระทำการฉ้อราษฎรบังหลวงด้วยกัน ในทางตรงข้ามถ้าเขาปฏิเสธไม่ร่วมมือด้วยเขาก็อาจได้รับผลร้ายติดตามมาได้
11. “ค่ารับรองและของขวัญ” เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมของนิติบุคคลเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีหรือในบางโอกาสถือเป็นการแสดงออกของมารยาททางสังคม ซึ่งค่ารับรองอาจรวมถึงค่าที่พัก ค่าโดยสารสำหรับการเยี่ยมชมสถานที่ประกอบการ การศึกษา ดูงานหรือค่าอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนของขวัญอาจมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเงิน สินค้า บริการ บัตรกำนัล เป็นต้น อย่างไรก็ดีค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจถือเป็นสินบนหากเป็นการให้เพื่อจูงใจเจ้าหน้าที่ของรัฐให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ และบ่อยครั้งมักถูกปกปิดในทางบัญชี โดยการบันทึกรายการที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการจัดการอบรม ค่าที่ปรึกษา หรือ ค่าใช้จ่ายเพื่อการส่งเสริมด้านการตลาด เป็นต้น
ข้อมูลดังกล่าว จะเป็นลักษณะการกระทำที่เข้าข่ายการรับสินบน หากเจ้าหน้าที่กระทำจะมีความผิดกฎหมายแล้วมีโทษทางอาญา มาตรา 149 ก็ย่อมเป็นการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ถือเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้รับตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ด้วย แล้วคุ้มกันไหมกับโทษที่ตัวเองต้องได้รับ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว
หมายเหตุ มาตรา 149 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือ ไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึง ยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต
อ้างอิง : หนังสือคดีสินบนกับการรับทรัพย์หรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าพนักงานของรัฐ สำนักงาน ป.ป.ช.