กกพ. กับทิศทางการดูแลพลังงาน ในยุค “Energy Transition” เพื่อความมั่นคงและความมีเสถียรภาพด้านพลังงาน
หลังจากที่ทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน ส่งผลให้หลายๆ ประเทศทั่วโลกต้องเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Energy Transition) จึงเป็นความท้าทายในการกำกับดูแลพลังงาน ทั้งด้านการบริหารต้นทุนการผลิตเพื่อให้ราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสม และการรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของภาคพลังงานเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
หน่วยงานกำกับสำคัญอย่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) โดย นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ระบุว่า ความท้าทายในการการกำกับดูแลกิจการพลังงานในระยะต่อไป คือการสร้างความมั่นคงและความมีเสถียรภาพทางด้านพลังงานที่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสามารถบรรลุเป้าหมายทำให้ภาคพลังงานรับใช้ประชาชนผู้ใช้พลังงานด้วยการพัฒนาสังคม ยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงพลังงานสะอาดของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ และสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
โดยทิศทางการกำกับดูแลพลังงานของ สำนักงาน กกพ. ให้มีความมั่นคงและความมีเสถียรภาพด้านพลังงาน สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน การกำกับกิจการพลังงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป กกพ. จะต้องเผชิญกับโจทย์ความท้าทาย 4 ด้าน ดังนี้
1. การกำกับดูแลเพื่อรองรับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ เช่น พลังงานจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน พลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก รวมไปถึงการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บคาร์บอนในประเทศ
2. การบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสามารถรองรับแนวโน้มพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้มากที่สุดในราคาที่เหมาะสม
3. การส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพและความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ ภาคพลังงานไทยมีความได้เปรียบซึ่งสามารถดึงเอาศักยภาพและความได้เปรียบเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ ศักยภาพในเชิงที่ตั้งที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้และต่อเนื่องจากการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ภูมิประเทศที่มีพรมแดนเชื่อมติดกับ สปป.ลาว ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาดสามารถเชื่อมต่อและรับซื้อไฟฟ้า พลังน้ำที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก สปป.ลาว ได้เป็นจำนวนมาก และการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติ
ในอ่าวไทย และแหล่งอื่นๆ รวมทั้งการนำเข้าจากต่างประเทศให้เสริมประสิทธิภาพซึ่งกันและกันก็สามารถช่วยเสริมการให้บริการไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกๆ สถานการณ์รองรับความผันผวนพลังงานและยังสามารถพัฒนาให้เป็นหลุมกักเก็บคาร์บอนได้ด้วย
4. การเพิ่มการแข่งขันในภาคพลังงานโดยมุ่งให้ผลประโยชน์เกิดกับผู้ใช้ไฟฟ้า ส่งเสริมผู้ใช้พลังงานและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงและใช้พลังงานสะอาดได้ในระดับราคาที่เหมาะสม
เมื่อทั่วโลกกำลังมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน ส่งผลให้เกิดการปรับตัวและแรงกดดันที่จะตามมาในอนาคต ประเทศไทยจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมุ่งหน้าสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ไปด้วย โดยมีเป้าหมายการเข้าสู่สังคม Carbon Neutral ในปี 2050 และ เข้าสู่สังคม Net Zero Emission ในปี 2065 เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ยังรวมไปถึงมาตรการหรือกลไกเชิงบังคับ (CBAM) แรงกดดันทางภาษีจากต่างประเทศสำหรับสินค้าที่มีกระบวนการที่ก่อให้เกิดคาร์บอนสูง ของสหภาพยุโรป เพื่อให้ทุกประเทศร่วมกันใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดสภาวะโลกร้อนให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างจริงจัง
สำหรับการกำกับดูแลพลังงานของ สำนักงาน กกพ. ยังต้องคำนึงถึงนโยบายการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้สามารถใช้พลังงานสะอาดที่สะดวกในราคาที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันในตลาดโลกตามกติกาสากล เป็นการเปลี่ยนผ่านที่มีรูปแบบที่ยังคงสามารถช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้สามารถดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานในสังคม และยังคงมีการให้บริการสาธารณะในระดับที่เพียงพอและเกิดความปลอดภัยในสังคมต่อไป