ธนาคารกรุงไทยเผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.98 บาทต่อดอลลาร์ 'แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย'
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.98 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.06 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในกรอบ 34.87-35.15 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่า ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ ซึ่งพอดัชนี PPI ออกมาชะลอลงต่อเนื่องและต่ำกว่าคาด ก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดพอคลายกังวลแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจชะลอลงช้า จนทำให้เฟดไม่รีบลดดอกเบี้ยตามคาด โดยภาพดังกล่าว ได้กลับมากดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงและหนุนการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ทำให้เงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ทั้งนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ หลังเงินดอลลาร์ก็เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงขึ้น
สัปดาห์ที่ผ่านมา การปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และของไทย ได้ส่งผลให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน พร้อมจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และการแถลง Policy Briefing ของธนาคารแห่งประเทศไทย
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังกล่าวยังคงสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่ง ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของเฟด ที่ “เร็วและลึก” ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะกลับมาให้ความสนใจ รายงานสรุปสภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) ซึ่งจะช่วยสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ดี นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ Voter ในการประชุม FOMC อาทิ Christopher Waller, Michael Barr, Michelle Bowman, John Williams, Raphael Bostic และ Mary Daly และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ โดยเฉพาะสถาบันการเงิน ทั้งขนาดใหญ่ และสถาบันการเงินภูมิภาค โดยอาจมีประเด็นสำคัญอยู่ที่ การตั้งสำรองหนี้เสีย รวมถึงสภาพคล่องของสถาบันการเงินขนาดเล็ก-กลาง
▪ ฝั่งยุโรป – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจของอังกฤษ และทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีก (Retail Sales) นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของทั้ง ECB และ BOE ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า ECB และ BOE อาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้เร็วกว่าเฟด ซึ่งมุมมองดังกล่าวก็เป็นปัจจัยที่กดดันทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP)
▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน อาทิ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 รวมถึง ยอดค้าปลีก (Retail Sales), ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนธันวาคม โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนสะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ดีขึ้น ก็อาจช่วยหนุนให้ผู้เล่นในตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยงสินทรัพย์จีนมากขึ้น ทำให้เงินหยวนจีน (CNY) ทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ซึ่งภาพดังกล่าวก็อาจช่วยหนุนการแข็งค่าของสกุลเงินเอเชียเช่นกัน นอกจากนี้ ตลาดจะรอจับตา รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่น ในเดือนธันวาคม โดยหากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมผลของราคาพลังงานและอาหารสด (Core-Core CPI) ยังคงอยู่แถว 3.7% ก็อาจเป็นปัจจัยที่สนับสนุนแนวโน้มการทยอยปรับใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในปีนี้
▪ ฝั่งไทย – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่การแถลง BOT Policy Briefing ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ราว 10.00 น. ของวันจันทร์ที่ 15 มกราคม นี้ โดยเราคาดว่า ธปท. จะพยายามสื่อสารกับผู้เล่นในตลาดและประชาชนว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ระดับ 2.50% ถือว่า เป็นระดับที่ “เหมาะสม” ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจดังกล่าว นอกจากนี้ ธปท. อาจมีการเน้นย้ำว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยนั้นอยู่ในระดับต่ำ จากปัจจัยด้านอุปทานและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐเป็นหลัก ทำให้ ธปท. ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อนึ่ง เราจะจับตาอย่างใกล้ชิด ว่า ธปท. จะเน้นการสื่อสารว่า พร้อมปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตามความเหมาะสม หรือไม่ เพราะหาก ธปท. เน้นการสื่อสารดังกล่าว ก็อาจประเมินได้ว่า ธปท. เริ่มเห็นความเสี่ยงด้านลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อมากขึ้น ทำให้เราอาจเพิ่มโอกาสที่ ธปท. จะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ทั้งนี้ เรายังคงมุมมองเดิมว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ที่ระดับ 2.50% จนกว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะแย่ลงชัดเจน
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า แม้ว่าการอ่อนค่าอาจเริ่มชะลอลง หลังราคาทองคำรีบาวด์ขึ้น จากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงขึ้น ทว่า เงินบาทอาจผันผวนไปตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทย ซึ่งต้องติดตามการแถลง Policy Briefing ของธปท. ในวันจันทร์นี้ และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ควรรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) และสกุลเงินเอเชีย ได้พอสมควร
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เราคงมองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย จนกว่าจะคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จ จนทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยของเฟด
เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.50-35.25 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.85-35.15 บาท/ดอลลาร์