วันเด็ก’ 67 สสส. สานพลัง ภาคีเครือข่าย จัดเวทีระดมความเห็น “เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน” กระตุกสังคม ชวนคิด “ผู้ใหญ่จะทำอะไรให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ” ตามคำขวัญนายกรัฐมนตรี พร้อมเดินหน้าเคลื่อนงานสุขภาวะเด็กฯ นำร่อง 210 ตำบล 20 จังหวัด
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2567 ที่ รร. ทีเค พาเลซ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนงานสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวในระดับตำบล “เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน” กิจกรรมแสดงพลังเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 และเวทีเสวนา “ผู้ใหญ่จะทำอะไรให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ” ตามคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ปี 2567 ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี “มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย”
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ สสส. จัดกิจกรรมวันเด็กที่แตกต่าง มากกว่าการมอบของขวัญให้เด็ก เป็นการพลิกมุมกลับชวนสังคมมองผ่านคำขวัญวันเด็ก ที่มุ่งหวังอยากให้เด็กเป็นคนมองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย ซึ่งเด็กไม่สามารถเป็นได้เองโดยลำพัง หากไม่มีผู้ใหญ่อุ้มชูเลี้ยงดูและสนับสนุน ผู้ใหญ่จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เด็กเป็นได้อย่างที่หวัง ดังสุภาษิตแอฟริกาที่ใช้กันมากว่า 100 ปี “เลี้ยงเด็กหนึ่งคน-ใช้คนทั้งหมู่บ้าน” หลายประเทศนำมาจัดทำนโยบายดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนเติบโต ไม่เว้นแม้แต่สหรัฐอเมริกา เนื่องจากตระหนักว่า เด็กไม่สามารถเติบโตได้จากแค่ครอบครัว ยังมีสภาพสิ่งแวดล้อม สังคม การเรียนรู้ ความปลอดภัยรอบบ้าน จากการขับเคลื่อนงานสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวในระดับตำบล ของ สสส. ร่วมกับชุมชนทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบันมีชุมชนท้องถิ่นเข้าร่วมโครงการรวม 210 ตำบลใน 20 จังหวัด เกิดจิตอาสาที่ทำงานด้านเด็ก มีทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) นักพัฒนาชุมชน ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ช่วยกันดูแลเด็กในพื้นที่ของตน เนื่องจาก สถานการณ์ของเด็กทั่วประเทศมากกว่า 70% อยู่ในครอบครัวรายได้น้อย จึงต้องการการหนุนเสริมทั้งในแง่ของสวัสดิการต่างๆ ตลอดจนความช่วยเหลือในการเลี้ยงดู-การให้คำปรึกษาแนะนำ-การเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการและทักษะต่างๆ
“จากการลงพื้นที่สำรวจ พบว่าในชุมชนมีเด็กจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่กับเครือญาติโดยขาดแม่หรือพ่อเนื่องจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่ต้องไปหางานทำไกลบ้านหรือสาเหตุอื่นๆ มีการดูแลที่ไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต หรือมีภาวะเสี่ยงเช่นสมาชิกครอบครัวเป็นผู้ใช้ยา หรือมีปัญหาจิตเวช หรือมีการใช้ความรุนแรงในบ้าน เมื่อทีมชุมชนสำรวจพบจะมีการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นเพื่อให้เด็กมีความปลอดภัย ครอบครัวสามารถปรับตัวและเกิดทักษะที่ถูกต้องในการเลี้ยงเด็ก บางกรณีเป็นเรื่องของตัวบ้านที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่มีห้องน้ำที่สุขอนามัย เมื่อทีมชุมชนทราบเรื่องก็จะแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วยเหลือ เป็นต้น เป็นตัวอย่างของการช่วยกันของชุมชนดูแลเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ สำหรับกิจกรรมวันเด็กปีนี้ ขอเชิญชวนผู้ใหญ่ร่วมถ่ายคลิปวิดิโอบอกเล่าว่าตนเองอยากส่งเสริมการเติบโตของเด็กอย่างไร ตามคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ปี 2567 และโพสต์ลงสื่อโซเชียลพร้อมใส่แฮชแท่ก #ฉันจะทำทุกวันให้เป็นวันเด็ก โดย สสส. จะนำมาเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ ในวงกว้าง เป็นการนำมุมมองของผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่คนหนึ่งมาถ่ายทอดสู่กัน คล้ายโรงเรียนพ่อแม่ขนาดใหญ่ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์กัน เช่น ประเด็นมองโลกกว้าง เคารพความแตกต่าง ผู้ปกครองอาจจะพาบุตรหลานไปทำกิจกรรมจิตอาสา ทำให้เด็กได้รับมุมมองใหม่ ๆ หรือ การชวนบุตรหลานทำกิจกรรมยามว่างโดยให้เค้าเป็นคนคิดริเริ่มด้วยตนเอง ผู้ใหญ่ชื่นชมในความสร้างสรรค์ โดยไม่ปิดกั้นความคิด หรือบังคับควบคุม ก็จะเป็นการทำให้คำขวัญวันเด็กเกิดขึ้นได้จริง” น.ส.ณัฐยา กล่าว
น.ส.อรพินท์ ศักดิ์เอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก กรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า แม้ครอบครัวเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุด เอื้อต่อการพัฒนาและทำให้เด็กปลอดภัย แต่ชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการโอบอุ้มและสนับสนุน พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติฯ และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ให้ความสำคัญกับบทบาทของครอบครัวและชุมชน ท้องถิ่นในการส่งเสริม พัฒนา และปกป้องคุ้มครองเด็ก โดยเฉพาะครอบครัวยากจน เปราะบาง ที่ผ่านมา กรมกิจการเด็กฯ เข้าไปสำรวจติดตามการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี ทั้งมอบเงินอุดหนุนและให้เด็กเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา กว่า 300,000 คน ส่งเสริมสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ 51,360 แห่ง พัฒนาหลักสูตรและอบรมครู/ผู้ดูแลเด็กให้มีความรู้และทักษะการดูแลเด็กปฐมวัย รวมถึงการเลี้ยงดูโดยไม่ใช้ความรุนแรงและขับเคลื่อนศูนย์ช่วยเหลือสังคมระดับตำบล/เทศบาล โดยใช้ TP-MAP ค้นหาครอบครัวเปราะบาง นอกจากนี้ กรมฯ ได้จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัว 5 มิติ ครอบคลุมที่อยู่อาศัย รายได้ สุขภาพ การศึกษา การเข้าถึงบริการ พร้อมตั้งเป้าหมาย ในปี 2568 ทุก อปท. จะมีศูนย์คุ้มครองเด็กเกิดขึ้น